สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

รองเท้านารี

รองเท้านารี  สกุล
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum Pfitzer

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นตามพื้นดิน บนหิน หรือคบไม้ ลำต้นขนาดเล็ก ไม่มีลำต้นเทียม (ลำลูกกล้วย) ใบเรียงพับซ้อนกัน แผ่นใบส่วนมากมีลาย ปลายส่วนมากจักตื้น ๆ 2–3 แฉก โคนมักมีขนครุย ช่อดอกมีดอกเดียวหรือหลายดอก ก้านช่อดอกส่วนมากมีขนสั้นนุ่ม ใบประดับติดทน กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบบนมักจะมีขนาดใหญ่ กลีบคู่ข้างเชื่อมติดกัน กลีบดอก 3 กลีบ แยกกัน กลีบคู่ในกางออก ห้อยลง หรือบิดเวียน กลีบปากเป็นถุง เส้าเกสรไม่มีฝาครอบ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเป็นแผ่นปิดเส้าเกสร อับเรณูที่สมบูรณ์ 2 อัน อยู่ด้านข้าง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีช่องเดียว เชื่อมติดก้านดอก ส่วนมากมีขน ยอดเกสรเพศเมียจัก 3 พู ผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สกุล Paphiopedilum อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Cypripedioideae มี 80–85 ชนิด ในไทยมีประมาณ 14 ชนิด กล้วยไม้รองเท้านารีมีการผสมข้ามพันธุ์จำนวนมาก รวมถึงในธรรมชาติ ทำให้มีลักษณะของ form จำนวนมาก โดยเฉพาะสีของดอกและลายต่าง ๆ ทุกชนิดเป็นพืชอนุรักษ์ในบัญชีที่ 1 ของ CITES ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก Paphos ชื่ออีกชื่อหนึ่งของเทพเจ้ากรีกโบราณ (Aphrodite) ซึ่งเป็นเทพแห่งความรักใคร่ และ “pedilon” รองเท้า ตามลักษณะของดอก


รองเท้านารีเวศย์วรุตม์
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum vejvarutianum O.Gruss & Roellke

Orchidaceae

ดูที่ รองเท้านารีดอยตุงกาญจน์

รองเท้านารีเหลืองเลย
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum hirsutissimum (Lindl. ex Hook.) Stein var. esquirolei (Schltr.) K.Karas. & K.Saito

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นบนหินปูน ใบรูปแถบ ยาวได้ถึง 45 ซม. แผ่นใบด้านล่างมักมีจุดสีม่วง ช่อดอกมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 17–25 ซม. ใบประดับรูปรี ยาว 1.5–2.8 ซม. ปลายแหลมหรือมน มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีเหลืองอ่อน มีสีหรือจุดสีน้ำตาลแซมทั่วไป มีขนครุยและขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงบนรูปไข่ ยาว 4.2–5.2 ซม. ขอบเป็นคลื่น กลีบคู่ข้างคล้ายกลีบหลัง ยาว 4.2–4.5 ซม. ช่วงปลายกลีบดอกสีม่วงอมชมพู กลีบดอกรูปใบพาย ปลายมน ขอบเป็นคลื่น บิดประมาณกึ่งหนึ่ง ยาว 7–8 ซม. ถุงกลีบปากยาว 3.8–5.2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองอ่อน โคนมีจุดสีม่วงกระจาย แผ่นกลีบคล้ายรูปสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่รวมก้านดอกยาว 5–7.5 ซม.

พบที่จีนตอนใต้ ลาวตอนบน และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขึ้นใต้ร่มเงาตามเขาหินปูน ความสูง 450–1800 เมตร ส่วน var. hirsutissimum พบเฉพาะทางตอนบนของอินเดียและพม่า ดอกขนาดเล็กแต่มีขนยาวกว่า

ชื่อพ้อง  Paphiopedilum esquirolei Schltr.

ชื่ออื่น   รองเท้านารีคอขาว, รองเท้านารีเหลืองเลย (ทั่วไป)

รองเท้านารีเหลืองเลย: ดอกมีสีหรือจุดสีน้ำตาลแซม มีขนครุย ขอบกลีบเป็นคลื่น กลีบดอกรูปใบพาย บิดประมาณกึ่งหนึ่ง แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายรูปสี่เหลี่ยม (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

รองเท้านารีเหลืองกระบี่
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum exul (Ridl.) Rolfe

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นบนหินปูน ใบรูปแถบ ยาวได้ถึง 35 ซม. ช่อดอกมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 13–18 ซม. ใบประดับรูปรีแคบ ยาว 4–4.5 ซม. ดอกสีเหลืองอ่อน เส้นกลีบสีเข้ม กลีบเลี้ยงบนสีขาว โคนสีเหลือง มีจุดน้ำตาลอมแดง กลีบรูปไข่ ยาว 3–4.8 ซม. ปลายกลีบมน มีขนสั้นนุ่มด้านนอก กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3.4–4.7 ซม. โคนกลีบดอกมีจุดสีน้ำตาลแดงกระจาย มีขนสั้นนุ่มสีม่วง กลีบดอกรูปใบหอกกลับ ยาว 4.3–5 ซม. ปลายกลีบมน ขอบเป็นคลื่น มีขนครุย ถุงกลีบปากยาว 3–3.5 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่กลับ ยาว 6–8 มม. กลางแผ่นมีต่อมใส รังไข่รวมก้านดอกยาว 2.2–4 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่ชุมพร พังงา กระบี่ ขึ้นบนเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ความสูงไม่เกิน 50 เมตร

ชื่อพ้อง  Cypripedium insigne Lindl. var. exul Ridl.

ชื่อสามัญ  Excluded Paphiopedilum

รองเท้านารีเหลืองกระบี่: ใบประดับรูปรีแคบ กลีบเลี้ยงบนมีจุดน้ำตาลอมแดงกระจาย กลีบดอกรูปใบหอกกลับ ขอบเป็นคลื่น มีขนครุย แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่กลับ กลางแผ่นมีต่อมใส (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

รองเท้านารีเหลืองตรัง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นบนดินหรือบนหินปูน ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 14 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีจุดสีม่วงกระจาย ขอบช่วงล่างมีขนครุย ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านช่อยาว 4–8 ซม. ใบประดับสีม่วง รูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวหรืออมเหลือง มีจุดสีม่วงกระจาย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง ยาว 2.5–4.6 ซม. ปลายกลีบมนหรือกลม กลีบคู่ข้างรูปไข่ ยาว 2–4.5 ซม. ปลายกลีบมน กลีบดอกรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3.5–6 ซม. ขอบกลีบเป็นคลื่น ถุงกลีบปากยาว 2.5–4.2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรี ยาวประมาณ 7 มม. ปลายจักตื้น ๆ 1–3 จัก มีขนสั้นนุ่ม รังไข่รวมก้านดอกยาวประมาณ 4 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงไม่เกิน 100 เมตร มีความผันแปรสูง บางครั้งแยกเป็น var. ang-thong (Fowlie) Braem หรือรองเท้านารีอ่างทอง ดอกเล็กกว่าแต่ก้านดอกยาวกว่า และ var. leucochilum (Rolfe) Hallier หรือรองเท้านารีเหลืองพังงา ดอกใหญ่ กลีบปากสีขาวไม่มีจุดสีม่วง

ชื่อพ้อง  Cypripedium godefroyae God.-Leb.

ชื่อสามัญ  Mrs. Godefroy’s Paphiopedilum

ชื่ออื่น   รองเท้านารีเหลืองตรัง (ทั่วไป); เอื้องฝาหอย (เชียงใหม่)

รองเท้านารีเหลืองตรัง: ถิ่นที่อยู่บนหินปูน ดอกสีขาวอมเหลือง มีจุดสีม่วงกระจาย กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง กลีบดอกรูปรีหรือรูปขอบขนาน ขอบกลีบเป็นคลื่น (ภาพ: สุทธิรักษ์ นงแก้ว)

รองเท้านารีเหลืองปราจีน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum concolor (Lindl. ex Bateman) Pfitzer

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นบนหินปูนหรือตามพื้นดิน ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 14 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีจุดสีม่วงหนาแน่น ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านช่อยาวได้ถึง 8 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 1–1.5 ซม. ดอกสีเหลืองอ่อน มีจุดหรือริ้วสีม่วงอมน้ำตาลแดงกระจาย มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงบนรูปไข่ กว้างยาวเท่า ๆ กัน ปลายกลีบมนหรือเว้าตื้น ยาว 2.5–3.7 ซม. กลีบคู่ข้างรูปรีหรือรูปไข่ โค้งเว้า ปลายมนหรือบุ๋ม ยาว 2–3.5 ซม. กลีบดอกรูปรี ปลายกลีบกลม ยาว 3.5–4.5 ซม. ถุงกลีบปากยาว 3–3.8 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่ เป็นเหลี่ยม ยาว 1–1.3 ซม. ปลายจัก 3 แฉกตื้น ๆ หรือแหลม มีขนครุย รังไข่รวมก้านดอก ยาว 3–5 ซม.

พบในพม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายห่าง ๆ จนถึงภาคใต้ที่ชุมพร ขึ้นตามซอกเขาหินปูนหรือตามพื้นดิน ความสูง 100–1000 เมตร บางครั้งแยกเป็นหลายพันธุ์ ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะของ form มากกว่า พันธุ์ผสมที่รู้จักกันดีคือ Paphiopedilum x concolor-bellatulum

ชื่อพ้อง  Cypripedium concolor Lindl. ex Bateman

ชื่อสามัญ  One colored Paphiopedilum

รองเท้านารีเหลืองปราจีน: ดอกสีเหลืองอ่อน มีจุดหรือริ้วสีม่วงอมน้ำตาลแดงกระจาย กลีบเลี้ยงบนกว้างยาวเท่า ๆ กัน กลีบดอกรูปรี แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่ เป็นเหลี่ยม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

รองเท้านารีกระบี่
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum niveum (Rchb.f.) Stein

Orchidaceae

ดูที่ รองเท้านารีขาวสตูล

รองเท้านารีขาวสตูล
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum niveum (Rchb.f.) Stein

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นตามพื้นดิน ใบรูปขอบขนานถึงรูปแถบ ยาว 8–19 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีจุดสีม่วงหนาแน่น ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านช่อยาวได้ถึง 20 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 1–1.4 ซม. ดอกสีขาว มีจุดสีม่วงเป็นทาง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง ยาว 2.7–4.2 ซม. กลีบคู่ข้างรูปไข่ ยาว 2–3 ซม. กลีบดอกรูปรี ยาว 3.3–4.3 ซม. ปลายกลีบมนกลม เว้าตื้น ถุงกลีบปากยาว 2.2–3.6 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีสีเหลืองแซม ด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว ยาว 6–9 มม. ปลายจักตื้น ๆ 1–3 แฉก รังไข่รวมก้านยาวประมาณ 4.5 ซม.

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่ตรัง และสตูล ขึ้นบนเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร อนึ่ง รองเท้านารีขาวพังงา P. thaianum Iamwir. ต่างกันที่ส่วนต่าง ๆ ของดอกขนาดเล็กกว่า ซึ่งอาจเป็นเพียงลักษณะที่ผันแปร

ชื่อพ้อง  Cypripedium niveum Rchb.f.

ชื่อสามัญ  Snow-white Paphiopedilum

ชื่ออื่น   รองเท้านารีกระบี่, รองเท้านารีขาวสตูล, รองเท้านารีช่องอ่างทอง, รองเท้านารีดอกขาว (ทั่วไป)

รองเท้านารีขาวสตูล: ดอกสีขาว มีจุดสีม่วงเป็นทาง กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง กลีบดอกรูปรี ปลายกลีบมนกลม เว้าตื้น แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีสีเหลืองแซม ด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว (ภาพ: ปาจรีย์ อินทะชุบ, ราชันย์ ภู่มา)

รองเท้านารีคอขาว
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum hirsutissimum (Lindl. ex Hook.) Stein var. esquirolei (Schltr.) K.Karas. & K.Saito

Orchidaceae

ดูที่ รองเท้านารีเหลืองเลย

รองเท้านารีคางกบ
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum callosum (Rchb.f.) Stein

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นตามพื้นดิน ใบรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 10–20 ซม. ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านช่อยาว 12–25 ซม. ใบประดับรูปไข่ ปลายแหลม ยาว 1.5–2.8 ซม. ดอกสีขาว อมเขียวหรือน้ำตาล เส้นกลีบสีม่วง กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้างเกือบกลม กว้าง 4.2–6 ซม. ปลายกลีบเป็นติ่งแหลม กลีบคู่ข้างรูปรี เว้า ยาว 2.7–3.2 ซม. กลีบดอกรูปลิ้น ยาว 4.6–6.8 ซม. บิดเล็กน้อย ปลายกลีบมนหรือกลม ขอบกลีบบนและล่างมักมีจุดสีน้ำตาลแดง ถุงกลีบปากสีเขียวอมน้ำตาล ยาว 2.5–4.5 ซม. ขอบด้านในมีต่อม แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายจักโค้งคล้ายรูปเคียว มีขนสั้นนุ่ม รังไข่รวมก้านยาว 3–6.5 ซม.

พบที่ลาว และกัมพูชา ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 300–1300 เมตร แยกเป็น var. potentianum (O. Gruss & Roeth) P. J. Cribb ไม่มีต่อมบนกลีบดอก เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย แต่ไม่ทราบถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติ และ var. sublaeve (Rchb.f.) P. J. Cribb หรือเอื้องคางกบใต้ กลีบเลี้ยงบนขนาดเล็กกว่า กลีบดอกไม่บิดงอและมีจุดสีน้ำตาลแดงที่ขอบบน พบที่คาบสมุทรมลายูตอนบน และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามป่าละเมาะ ความสูง 700–950 เมตร

ชื่อพ้อง  Cypripedium callosum Rchb.f.

ชื่อสามัญ  Callus Paphiopedilum

ชื่ออื่น   แมงภู่ (ลำปาง); รองเท้านาง, รองเท้านารีคางกบ (ทั่วไป); เอื้องคางกบ, เอื้องคางคก (เชียงใหม่)

รองเท้านารีคางกบ: กลีบดอกรูปลิ้น ยาว 4.6–6.8 ซม. ขอบกลีบมีจุดสีน้ำตาลแดง ขอบด้านในถุงกลีบปากมีต่อม แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันปลายจักโค้งคล้ายรูปเคียว (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

รองเท้านารีคางกบคอแดง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum appletonianum (Gower) Rolfe

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นตามพื้นดิน ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 7–25 ซม. ลายด่างไม่ชัดเจน ช่อดอกส่วนมากมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 17–48 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาว 1.5–2 ซม. ดอกสีเขียวอมขาว กลีบเลี้ยงบนเส้นกลีบสีม่วง กลีบรูปไข่ ยาว 2.7–4.5 ซม. ปลายกลีบเป็นติ่งแหลม โคนเว้าตื้น กลีบคู่ข้างรูปรี ยาว 2–3 ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอกมีลายสีเขียวอมน้ำตาลและจุดสีน้ำตาลแดง ปลายกลีบสีม่วงอมชมพู กลีบรูปใบพาย ยาว 4.4–5.8 ซม. บิดเล็กน้อย ปลายกลีบแหลมหรือจัก 3 แฉกตื้น ๆ ถุงกลีบปากยาว 3.6–4.6 ซม. ปลายจักซี่ฟันเบี้ยว แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองหรืออมม่วง มีแต้มสีเขียว รูปรีกว้าง ยาว 7–9 มม. ปลายจักตื้น ๆ 3 แฉก รังไข่รวมก้านดอก ยาว 3–6 ซม.

พบที่ไห่หนาน และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ระยอง จันทบุรี ตราด ขึ้นตามป่าดิบชื้น ริมลำธาร ความสูง 600–700 เมตร

ชื่อพ้อง  Cypripedium appletonianum Gower

ชื่อสามัญ  Appleton’s Paphiopedilum

รองเท้านารีคางกบคอแดง: กลีบดอกมีลายสีเขียวอมน้ำตาลและจุดสีน้ำตาลแดง ปลายกลีบสีม่วงอมชมพู กลีบรูปใบพาย แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลือง มีแต้มสีเขียว ปลายจักตื้น ๆ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

รองเท้านารีช่องอ่างทอง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum niveum (Rchb.f.) Stein

Orchidaceae

ดูที่ รองเท้านารีขาวสตูล

รองเท้านารีดอกขาว
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum niveum (Rchb.f.) Stein

Orchidaceae

ดูที่ รองเท้านารีขาวสตูล

รองเท้านารีดอยตุงกาญจน์
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum vejvarutianum O.Gruss & Roellke

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นบนหินปูน ใบรูปแถบ ยาว 5–35 ซม. ปลายแหลม ช่อดอกมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 6–20 ซม. ใบประดับโคนมีขน มีจุดสีน้ำตาลอมม่วงหนาแน่น รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 2–4 ซม. ดอกสีเหลืองอ่อนอมน้ำตาลปนเขียว กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงสั้นนุ่ม กลีบบนรูปรีกว้าง โคนเรียวแคบ ยาว 3–4 ซม. สีขาว โคนมีปื้นสีเขียวอมน้ำตาลปนม่วง กลีบคู่ข้างรูปรี ยาว 2.5–3 ซม. กลีบดอกรูปใบหอกกลับหรือรูปใบพาย โค้งเล็กน้อย ยาว 3.5–4 ซม. ปลายกลีบมนกลม ขอบกลีบเป็นคลื่น โคนมีขนสีน้ำตาลแดง ถุงกลีบปากยาว 3–3.5 ซม. เกลี้ยง แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองอ่อน รูปไข่กลับแกมรูปสี่เหลี่ยม ยาว 1–1.2 ซม. กลางกลีบช่วงปลายมีต่อมนูนใสสีส้มอ่อน รังไข่รวมก้านดอกยาว 3–4 ซม.

พบที่พม่า จีนตอนใต้ ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคเหนือตอนล่าง ขึ้นบนเขาหินปูน ความสูง 500–1000 เมตร คล้ายกับ P. barbigerum Tang & F. T. Wang ของจีน ซึ่งมีความผันแปรสูง แยกเป็น var. lockianum Aver. และ var. coccineum (Perner & R. Herrm.) Cavestro พบที่เวียดนาม และ var. sulivongii Schuit. & P. Bonnet พบที่ลาว คำระบุชนิดตั้งตามชื่อคุณไกรฤทธิ์ เวศย์วรุตม์ อดีตนายกสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่แนะนำกล้วยไม้ชนิดนี้ให้แก่นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันผู้ตั้งชื่อ

ชื่อสามัญ  Vejvarut Paphiopedilum

ชื่ออื่น   รองเท้านารีดอยตุงกาญจน์, รองเท้านารีเวศย์วรุตม์ (ทั่วไป)

รองเท้านารีดอยตุงกาญจน์: ถิ่นที่อยู่ตามเขาหินปูน ใบรูปแถบ กลีบเลี้ยงบนโคนเรียวแคบ กลีบดอกขอบกลีบเป็นคลื่น แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองอ่อน มีต่อมนูนใสสีส้มอ่อน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

รองเท้านารีฝาหอย
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum bellatulum (Rchb.f.) Stein

Orchidaceae

กล้วยไม้ขึ้นบนหินปูน ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 11–18 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีจุดสีม่วงหนาแน่น ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านยาว 2–4.5 ซม. ใบประดับรูปไข่ ปลายแหลมหรือมน ยาว 2.3–2.7 ซม. ดอกสีขาวอมเหลือง มีจุดสีม่วงอมแดงขนาดใหญ่กระจายทั่วไป มีขนสั้นนุ่มด้านนอก ขอบมีขนครุย กลีบเลี้ยงบนรูปไข่ ด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว กว้าง 3.3–5.6 ซม. เว้าเข้า ปลายกลีบมนหรือเว้าบุ๋ม กลีบเลี้ยงคู่ข้างคล้ายรูปหัวใจ ขอบเว้า ยาว 2–3 ซม. ปลายกลมหรือมน กลีบดอกรูปรีกว้าง ยาว 4.5–6.3 ซม. ปลายกลีบกลม ถุงกลีบปาก ยาว 2.5–4.2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายรูปสี่เหลี่ยม ยาว 0.8–1.1 ซม. ปลายจักซี่ฟัน รังไข่รวมก้านดอกยาวประมาณ 3 ซม.

พบที่พม่าและจีนตอนใต้ ในไทยพบกระจายห่างๆ ทางภาคเหนือ ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 900–1800 เมตร form ที่พบบ่อยกลีบดอกมีสีขาวล้วน (albino form) และที่เป็นลูกผสม Paphiopedilum x concolor-bellatulum

ชื่อพ้อง  Cypripedium bellatulum Rchb.f.

ชื่อสามัญ  Enchanting Paphiopedilum

ชื่ออื่น   รองเท้านารีฝาหอย (กรุงเทพฯ); เอื้องอึ่ง (แพร่)

รองเท้านารีฝาหอย: ดอกสีขาวอมเหลือง มีจุดสีม่วงอมแดงขนาดใหญ่กระจายทั่วไป กลีบเลี้ยงบนด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว เว้าเข้า กลีบดอกรูปรีกว้าง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

รองเท้านารีอ่างทอง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein var. ang-thong (Fowlie) Braem

Orchidaceae

ดูที่ รองเท้านารีเหลืองตรัง

รองเท้านารีอินทนนท์
วันที่ 28 เมษายน 2560

Paphiopedilum villosum (Lindl.) Stein

Orchidaceae

กล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน ใบรูปแถบคล้ายลิ้น ยาวได้ถึง 42 ซม. ช่อดอกมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 7–24 ซม. ใบประดับรูปรี ปลายมน ยาว 3.5–6.5 ซม. ดอกสีเหลืองอมน้ำตาล กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนอมเหลือง กลีบบนด้านในมีปื้นสีน้ำตาลแดง รูปไข่กลับ ปลายกลีบมน ยาว 4.5–6.5 ซม. ขอบช่วงโคนกลีบพับงอ กลีบคู่ข้างรูปไข่ ปลายแหลม สีเขียวอ่อน ยาว 3.8–5 ซม. กลีบดอกโค้งเข้า รูปไข่กลับแกมรูปใบพาย ปลายจักมน ยาว 4.7–7 ซม. โคนมีขนสีม่วง ขอบมีขนครุย ถุงกลีบปากยาว 4–6 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายรูปหัวใจ ยาวประมาณ 1.5 ซม. มีตุ่มและขนกระจาย กลางแผ่นเป็นสัน รังไข่รวมก้านดอกยาว 3–6 ซม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่าตอนบน และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000–2000 เมตร แยกเป็น var. annamense Rolfe พบที่จีน ลาว และเวียดนาม ขอบกลีบเลี้ยงกลีบบนมีสีขาวและมีแต้มม่วงกลางกลีบ var. boxallii (Rchb.f.) Pfitzer กลีบเลี้ยงกลีบบนมีจุดสีน้ำตาลดำ พบเฉพาะในพม่า และ var. densissimum (Z. J. Liu & S. C. Chen) Z. J. Liu & S. C. Chen ใบประดับยาวกว่ารังไข่รวมก้านดอกที่มีขนยาวหนาแน่น กลีบเลี้ยงคู่ข้างขนาดเล็ก พบเฉพาะที่จีนตอนใต้

ชื่อพ้อง  Cypripedium villosum Lindl.

ชื่อสามัญ  Hirsute Paphiopedilum

ชื่ออื่น   เอื้องไข่ไก่, เอื้องคางกบ, เอื้องแมงภู่ เชียงใหม่); เอื้องอินทนนท์, รองเท้านารีอิทนนท์ (ทั่วไป)

รองเท้านารีอินทนนท์: ดอกสีเหลืองอมน้ำตาล กลีบเลี้ยงบนด้านในมีปื้นสีน้ำตาลแดง กลีบดอกโค้งเข้า รูปไข่กลับแกมรูปใบพาย โคนมีขนสีม่วง แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายรูปหัวใจ กลางแผ่นเป็นสัน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Cribb, P.J. (2011). Orchidaceae (Paphiopedilum). In Flora of Thailand Vol. 12(1): 196–216.

Cribb, P.J. (1998). The genus Paphiopedilum. Second Edition. Natural History Publicaion (Borneo) in association with the Royal Botanic Gardens, Kew.

Gruss, O. and L. Roellke. (2003). Paphiopedilum vejvarutianum, eine neue Art aus Thailand - schon seit langem unbeachtet in Kultur. Die Orchidee 54. Die Orchidee: 56–59.

Liu, Z., X. Chen and P.J. Cribb. (2009). Orchidaceae (Paphiopedilum). In Flora of China Vol. 25: 33.