Index to botanical names
รสสุคนธ์
Dilleniaceae
ไม้เถา ลำต้นและใบสาก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ส่วนมากยาว 5–11 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มกว้าง เบี้ยว ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 25 ซม. ก้านดอกยาว 1–5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ปลายมน ขอบมีขนครุย คู่นอกยาวประมาณ 2 มม. 3 กลีบในยาว 4–5 มม. ติดทน ดอกสีขาว มี 3 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 3.5 มม. เกสรเพศผู้ยาว 3–4 มม. ส่วนมากมีคาร์เพลเดียว เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ผลยาว 0.6–1 ซม. ปลายเป็นจะงอยยาว 2–5 มม. ส่วนมากมีเมล็ดเดียว เมล็ดรูปไข่ ยาวประมาณ 4 มม. เยื่อหุ้มเมล็ดที่โคน ยาวได้ถึง 5 มม. สีแดงอมส้มพบที่อินเดีย หมู่เกาะอันดามัน ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบกระจายตามป่าชายหาดและชายป่าดิบชื้น ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร มีความผันแปรสูง บางครั้งแยกเป็นหลายชนิดย่อย
ชื่อพ้อง Delima sarmentosa L.
ชื่ออื่น ปดขนแข็ง (สุราษฎร์ธานี, ภาคตะวันตกเฉียงใต้); รสสุคนธ์ (ทั่วไป)
รสสุคนธ์: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม จักชายครุย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
ไม้พุ่มหรือไม้เถา ใบเรียงเวียน ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย มีกาบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ดอกจำนวนมาก ฐานดอกแบน กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ แยกจรดโคน ไม่ขยายในผล กลีบดอก 3–5 กลีบ แยกจรดโคน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ถุงอับเรณูรูปใบหอก สั้น แกนอับเรณูรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มี 1–5 คาร์เพล แยกกัน แต่ละคาร์เพลมีออวุล 4–20 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลเป็นฝักแตก 1–2 แนว รูปไข่ ผนังหนา เมล็ดมีเยื่อหุ้มจักชายครุยสกุล Tetracera อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Delimoideae มีประมาณ 45 ชนิด ในไทยมี 4 ชนิด อีก 2 ชนิดคือ ลิ้นแรด T. scandens (L.) Merr. มีคาร์เพลเดียว มีขนสั้นนุ่ม ส่วนมากพบทางภาคใต้ และ เถาอรคนธ์ T. indica (Christm. & Panz.) Merr. มี 3–4 คาร์เพล เกลี้ยง แต่กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ส่วนใหญ่พบทางภาคใต้เช่นเดียวกัน ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “tetra” สี่ และ “keras” เขา ตามลักษณะผลบางชนิด
ลิ้นแรด: มีคาร์เพลเดียว มีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา))
ไม้เถา ลำต้นและใบสากเล็กน้อย ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ส่วนมากยาว 6–10 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนแหลมหรือมน ก้านใบยาว 0.7–1 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 20 ซม. ก้านดอกยาว 3–7 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ คู่นอกยาวประมาณ 5 มม. 3 กลีบในยาวประมาณ 7 มม. ติดทน ดอกสีขาวหรืออมชมพู มี 3 กลีบ รูปไข่แคบ ๆ ยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้ยาวกว่ากลีบเลี้ยง มี 2–3 คาร์เพล เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ผลยาว 7–8 มม. ปลายเป็นจะงอย ยาว 2–3 มม. มี 1–2 เมล็ด เมล็ดรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. เยื่อหุ้มเมล็ดที่โคน ยาวได้ถึง 6 มม.พบที่กัมพูชา เวียดนาม ในไทยพบกระจายแทบทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร
ชื่อพ้อง Tetracera sarmentosa (L.) Vahl var. loureiri Finet & Gagnep.
ชื่ออื่น เถากะปดใบเลื่อม (ประจวบคีรีขันธ์); บอระคน (ตรัง); ปดคาย (สุราษฎร์ธานี); ปดน้ำมัน (ปัตตานี); ปดเลื่อน (สุราษฎร์ธานี); ปะละ (มาเลย์-นราธิวาส); มะตาดเครือ (กรุงเทพฯ); ย่านปด (นครศรีธรรมราช); รสสุคนธ์, รสสุคนธ์ขาว (กรุงเทพฯ); สะปัลละ (มาเลย์-นราธิวาส); สุคนธรส, เสาวรส (กรุงเทพฯ); อรคนธ์ (ตรัง)
รสสุคนธ์: กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดทน มี 2–3 คาร์เพล เกลี้ยง ปลายผลเป็นจะงอย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Hoogland, R.D. (1972). Dilleniaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 105–108.
Zhang, Z. and K. Kubitzki. (2007). Dilleniaceae. In Flora of China Vol. 12: 331.