ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 10–20 ซม. ปลายแหลม โคนมน เบี้ยว แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มด้านล่าง ต่อม 1 คู่ บนแผ่นใบด้านล่าง ต่อมมีก้าน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–3 มม. เส้นแขนงใบข้างละ 10–16 เส้น เรียงขนานกัน ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ยาวได้ถึง 15 ซม. ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 มม. ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 1–2 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในมีขนยาว เกสรเพศผู้ยาว 3–4 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลมี 5 ปีก หนา กว้าง 2.5–5 ซม. ยาว 4–6 ซม. รวมปีก (ดูข้อมูลเพิ่มเติ่มที่ สมอ, สกุล)
พบที่อินเดีย เนปาล พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ความสูง 100–1000 เมตร ส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะเปลือกมีสรรพคุณฆ่าเชื้อรา ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด
|