ไม้เถาล้มลุก ยาว 1–3 ม. น้ำยางสีขาว มีขนยาวสีน้ำตาลตามลำต้น แผ่นใบ ก้านใบ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบเรียงเวียน รูปหัวใจกว้าง ยาว 5–18 ซม. ขอบเรียบหรือจักเป็นพูตื้น ๆ ปลายแหลมหรือแหลมยาว ก้านใบยาว 3–16 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ก้านช่อสั้น ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาวได้ถึง 7 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 5–7.5 มม. ปลายแหลมยาว ขยายเล็กน้อยในผล ดอกสีครีม รูปคนโทคอดเว้า ปลายบานออกเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก ปลายกลีบด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีแถบขน เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูโคนแผ่กว้างคล้ายเกล็ด โค้งเหนือรังไข่ มีปุ่มกระจาย อับเรณูมีหนามละเอียด จานฐานดอกรูปถ้วย จัก 5 พู รังไข่มี 2 ช่อง ออวุลมี 4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรจัก 2 พู ผลแห้งแตก รูปไข่ ยาว 6–8 มม. ปลายเป็นติ่งแหลม เมล็ดสีดำ มีขนละเอียด
พบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบมากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร
สกุล Lepistemon Blume มี 6 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “lepis” เกล็ด และ “stemon” เกสรเพศผู้ ตามลักษณะโคนก้านชูอับเรณูแผ่คล้ายเกล็ด
|