สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ยอ

ยอ  สกุล
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda L.

Rubiaceae

ไม้พุ่ม ไม้ต้น หรือไม้เถา หูใบร่วม ส่วนมากรูปสามเหลี่ยม แยกหรือเชื่อมติดกันที่โคน ติดทนหรือร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกเป็นกระจุกแน่นรูปกลมหรือรูปรี ออกเดี่ยว ๆ เป็นกระจุก หรือช่อกระจุก ส่วนมากออกตรงข้ามใบ ดอกรูปดอกเข็ม รูปแตร หรือรูประฆัง ส่วนมากสีขาว ไร้ก้าน เชื่อมติดกันโดยรังไข่ กลีบเลี้ยงปลายตัดหรือจักมน ติดทน กลีบดอกมี 3–7 กลีบ เรียงจรดกันในตาดอก เกสรเพศผู้ 3–7 อัน ติดภายในหลอดกลีบดอกหรือคอหลอด ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูติดด้านหลัง รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด หรือมี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ยอดเกสรเพศเมีย 2 อัน รูปแถบ มี 2 แบบ แบบสั้นและแบบยาว ผลรวมเชื่อมหรือแยกกัน ผนังสด มี 2–4 ไพรีน แต่ละไพรีนมีเมล็ดเดียว

สกุล Morinda มีมากกว่า 40 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 10 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “morus” หม่อน และ “indicus” อินเดีย ตามชื่อสามัญ Indian mulberry


ยอ
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda citrifolia L.

Rubiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 10 ม. หูใบรูปไข่ ยาว 0.5–1.5 ซม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 10–25 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนแหลมหรือเรียวสอบ เส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น มักมีตุ่มใบเป็นขน ก้านใบยาว 0.5–3.5 ซม. ก้านช่อยาว 1–1.5 ซม. ช่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. บางครั้งมีแผ่นคล้ายใบประดับสีขาว 1–3 ใบ รูปรี ยาว 0.5–1.5 ซม. ดอกรูปแตรแคบ ๆ หลอดกลีบดอกยาว 0.8–1.5 ซม. ด้านในมีขนหนาแน่น มี 5–6 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 2–6 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.8–1 ซม. ช่อผลแก่สีขาว รูปไข่หรือกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5–5 ซม. ผลย่อยจำนวนมากเชื่อมติดกัน

พบที่อินเดีย ศรีลังกา ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ทางตอนบนของออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ปลูกเป็นไม้ผลและพืชสมุนไพร ใบและผลมีสรรพคุณหลายอย่าง โดยเฉพาะน้ำลูกยอ ที่เรียกว่า noni juice เชื่อว่ามีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งได้

ชื่อสามัญ  Beach mulberry, Cheese fruit, Indian mulberry

ชื่ออื่น   กะมูดู (มาเลย์-นราธิวาส); คูยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน, ส่วย); เควาะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); เคาะขมิ้น (ภาคเหนือ); ตะเกรย (ราชบุรี); ตะลุมพุก (ขอนแก่น); มะตาเสือ (ภาคเหนือ); ยอ (ภาคกลาง); ยอเถื่อน (ชุมพร); ยอบ้าน (ภาคกลาง); ยอป่า (ตรัง, สตูล, ภาคเหนือ); แยใหญ่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); สะกึย, สะเกย, หัสเกย (ภาคเหนือ)

ยอ: ดอกไร้ก้าน รังไข่เชื่ิอมติดกัน เกสรเพศเมียแบบยาว ยอดเกสรมี 2 อัน รูปแถบ ผลรวมเชื่อมติดกัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ยอเตี้ย
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda pandurifolia Kuntze

Rubiaceae

ดูที่ ยอน้ำ

ยอเถื่อน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda citrifolia L.

Rubiaceae

ดูที่ ยอ

ยอนา
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda pandurifolia Kuntze

Rubiaceae

ดูที่ ยอน้ำ

ยอน้ำ
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda pandurifolia Kuntze

Rubiaceae

ไม้พุ่มหรือรอเลื้อย มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบ ก้านใบ ใบมักเรียงหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรีถึงรูปใบหอก หรือคล้ายรูปไวโอลิน มักมีสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง ก้านใบ และเส้นกลางใบ ยาว 3–15 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเรียวสอบ ก้านใบยาว 0.5–3 ซม. ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ก้านช่อสั้น บางครั้งออกชิดกันใกล้ปลายกิ่งดูคล้ายช่อแยกแขนง ช่อเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ดอกรูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอกยาว 1–1.8 ซม. มีขนละเอียดประปราย มี 4–6 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 0.5–1.5 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. และ 0.8–1 ซม. ผลรูปรีหรือกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม.

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคเหนือตอนล่างที่ตาก และนครสวรรค์ ภาคกลางพบทั่วไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย มหาสารคาม ภาคตะวันออกที่อุบลราชธานี และภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี ขึ้นในที่ลุ่มน้ำขังหรือริมแม่น้ำ ความสูงระดับต่ำ ๆ ลักษณะและรูปร่างของใบมีความผันแปรสูง เคยแยกเป็น var. oblonga (Pit.) Craib และ var. tenuifolia Craib

ชื่อพ้อง  Morinda pandurifolia Kuntze var. oblonga (Pitard) Craib, M. tenuifolia Craib

ชื่ออื่น   ก้ามกุ้ง (เลย); ยอเตี้ย (สุราษฎร์ธานี); ยอนา (ภาคกลาง, ภาคใต้); ยอน้ำ (ชัยนาท); ยอป่า (อ่างทอง); ยอป่าเล็ก (นครสวรรค์)

ยอน้ำ: มักมีสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง ก้านช่อดอกสั้น ดอกรูปดอกเข็ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ยอบ้าน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda citrifolia L.

Rubiaceae

ดูที่ ยอ

ยอป่า
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda coreia Buch.-Ham.

Rubiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. หูใบยาว 0.8–1 ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปรี ยาว 15–25 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเรียวสอบ แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 7–12 เส้น มักมีตุ่มใบ ก้านใบยาว 1–3.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 2–6 ซม. ดอกรูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอกยาว 1.2–1.8 ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย มี 5–6 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 1–1.5 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.2–1.5 ซม. และ 1.5–1.8 ซม. ช่อผลรูปรีหรือกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 3 ซม. ผลย่อยจำนวนมากเชื่อมติดกัน

พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร อนึ่ง คล้ายกับยอป่าชนิด M. tomentosa B. Heyne ex Roth. และ M. pubescens Sm. บางข้อมูลระบุว่าทั้ง 3 ชนิด เป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งชื่อที่ถูกต้องอาจเป็น M. pubescens Sm.

ชื่อพ้อง  Morinda tinctoria Roxb., M. tomentosa B.Heyne ex Roth

ชื่ออื่น   คุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); คุย (พิษณุโลก); โคะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ยอป่า (ทั่วไป); สลักป่า, สลักหลวง (ภาคเหนือ)

ยอป่า: แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มหรือเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาว ดอกรูปดอกเข็ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ยอป่า
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda pandurifolia Kuntze

Rubiaceae

ดูที่ ยอน้ำ

ยอป่า
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda citrifolia L.

Rubiaceae

ดูที่ ยอ

ยอป่าเล็ก
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda pandurifolia Kuntze

Rubiaceae

ดูที่ ยอน้ำ

ยอพญาไม้
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda nana Craib

Rubiaceae

ไม้พุ่มหรือรอเลื้อย ใบขนาดเล็ก รูปรี หรือคล้ายรูปไวโอลิน ยาว 1–3 ซม. ปลายแหลม โคนเรียวสอบ ก้านใบยาว 1–3 มม. ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ก้านช่อสั้น ช่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3–1 ซม. ดอกรูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอกยาว 5–8 มม. มีขนละเอียดประปราย มี 5–6 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ถึง 1 ซม. ผลรูปรีหรือกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่นครพนม และภาคตะวันออกที่อำนาจเจริญ ขึ้นตามที่โล่งริมลำธาร ความสูง 100–200 เมตร

ยอพญาไม้: ไม้พุ่มหรือรอเลื้อย ใบขนาดเล็ก ก้านใบสั้น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

ยอย่าน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Morinda umbellata L.

Rubiaceae

ไม้เถา มีขนสั้นนุ่มทั่วไป หูใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2–6 มม. มีขนแข็ง 2 เส้น ยาวประมาณ 1 มม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–9 ซม. ปลายแหลมยาวหรือเป็นติ่งแหลม โคนแหลมหรือเรียวสอบ มักมีตุ่มใบเป็นขนยาว ก้านใบยาว 4–6 มม. ก้านช่อยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกย่อยมี 3–11 ช่อ ติดแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อย่อยยาว 0.4–1.2 ซม. ใบประดับรูปเส้นด้ายขนาดเล็ก ช่อกระจุกกลมหรือแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีดอกย่อย 6–12 ดอก ดอกรูประฆัง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. ด้านในมีขนยาว มี 4–5 กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ 3 มม. ปลายกลีบหนาเป็นตะขอสั้น ๆ ผลรวมเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7–1.2 ซม. ผลย่อยยาว 4–5 มม. เชื่อมติดกัน สุกสีส้มอมแดง

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร ในอินเดียผลดิบใช้ปรุงอาหาร ลำต้นใช้ทำเชือก ใบและรากใช้ฆ่าพยาธิ มีฤทธิ์เป็นยาสมาน แก้โรคท้องร่วง

ยอย่าน: ช่อผลย่อยติดแบบช่อซี่ร่ม มีขนสั้นนุ่ม ผลสุกสีส้มอมแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, T. and C.M. Taylor. (2011). Rubiaceae (Morinda). In Flora of China Vol. 19: 220, 223, 229.

Das, S.C. and M.A. Rahman. (2011). Taxonomic revision of the genus Morinda L. (Rubiaceae) in Bangladesh. Bangladesh Jornal of Botany 40(2): 113–120.

Kesonbua, W. and P. Chantaranothai. (2013). The genus Morinda (Rubiaceae) in Thailand. ScienceAsia 39: 331–339.