สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ยมหิน

ยมหิน
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Acrocarpus fraxinifolius Wight ex Arn.

Fabaceae

ดูที่ สะเดาช้าง

ยมหิน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Chukrasia tabularis A.Juss.

Meliaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. กิ่งมีช่องอากาศ มีขนละเอียดตามช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบประกอบเรียงเวียน มีใบย่อยข้างละ 10–15 ใบ เรียงสลับหรือเกือบตรงข้าม ก้านใบประกอบยาว 4–10 ซม. ใบย่อยรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4–15 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว แผ่นใบด้านล่างมักมีขนละเอียด ก้านใบย่อยยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวได้ถึง 20 ซม. ใบประดับคล้ายใบ ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 4–5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีครีมอมเขียวหรือน้ำตาล มี 5 กลีบ รูปใบพาย ยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายตัด ยาว 5–6 มม. อับเรณู 10 อัน ติดที่ปลายหลอด ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่ มี 3–5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก สั้น ยอดเกสรจัก 3–5 พู ผลแห้งแตก รูปรี ยาว 4–4.5 ซม. เปลือกแข็ง มีช่องอากาศหรือตุ่มหนาแน่น เมล็ดจำนวนมาก รูปรี แบน ยาวประมาณ 3 มม. ปลายมีปีกยาวประมาณ 1 ซม.

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นหลากหลายสภาพป่า หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร เปลือกรสฝาดมีสรรพคุณเป็นยาสมาน รากและเปลือกมีสารยับยั้งการกินอาหารของแมลงศัตรูพืชบางชนิด

สกุล Chukrasia A.Juss. เป็นสกุลที่มีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาฮินดู “chikrassee” ที่ใช้เรียก ยมหิน

ชื่อพ้อง  Chukrasia velutina (M.Roem.) C.DC.

ชื่อสามัญ  Chittagong wood

ชื่ออื่น   โค้โย่ง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ช้ากะเดา (ภาคใต้); ฝักดาบ (จันทบุรี); มะเฟืองช้าง (ภาคกลาง); ยมขาว (ภาคเหนือ); ยมหิน (ภาคกลาง); ริ้งบ้าง, รี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); วาราโย่ง (เขมร-ปราจีนบุรี); สะเดาช้าง, สะเดาหิน (ภาคกลาง); เสียดกา (ปราจีนบุรี); เสียดค่าง (สุราษฎร์ธานี)

ยมหิน: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด อับเรณูติดที่ปลายหลอด ผลแห้งแตก มีช่องอากาศหรือตุ่มหนาแน่น ปลายเมล็ดมีปีก (ภาพ: อรทัย เกิดแก้ว, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Peng, H. and D.J. Mabberley. (2008). Meliaceae. In Flora of China Vol. 11: 117.