ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. แยกเพศร่วมต้น กิ่งมีช่องอากาศ ใบประกอบเรียงเวียน มีใบย่อย 8–15 คู่ ก้านใบยาว 5–20 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 7–16 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยยาว 0.5–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวได้ถึง 50 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปรีขนาดเล็ก ขอบมีขนครุย ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 4–5 มม. ขอบมีขนครุย ก้านชูเกสรร่วมยาว 3–5 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1.5–3 มม. จานฐานดอกคล้ายนวมสีส้มแดง มีขนยาวหนาแน่น รังไข่มีขนยาว มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 8 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยาว 1.5–3 มม. ยอดเกสรแบน ผลแห้งแตกเป็น 5 ซีก รูปรี ยาว 2–4 ซม. แกนกลางมีห้าเหลี่ยม ผิวมีช่องอากาศ เมล็ดมีปีกทั้งสองด้าน ยาว 1.5–2 ซม. รวมปีก
พบที่อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้สวนป่าในหลายประเทศ ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ดอกมีกลิ่นหอม ให้สีย้อมสีแดงหรือเหลือง
สกุล Toona (Endl.) M.Roem. มี 5 ชนิด พบในเอเชียและออสเตรเลีย ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาสันสกฤต “toon” หรือ “tunna” ที่ใช้เรียก ยมหอม
|