สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ม้าทลายโรง

ม้าทลายโรง
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Neuropeltis racemosa Wall.

Convolvulaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งมีช่องอากาศ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 6–12 ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ใบประดับขนาดเล็ก ขยายในผล รูปรีกว้าง ยาว 3–4.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบขนาดไม่เท่ากัน รูปรีกว้าง ยาว 2–2.5 มม. ดอกสีขาวรูปถ้วย ยาวประมาณ 5 มม. มี 5 กลีบ แฉกลึก ด้านนอกมีขนยาว เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. โคนมีขนกระจุก รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน สั้น ยอดเกสรรูปโล่ จักสองพู ผลแห้งแตกรูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 มม. แยกเป็น 4 ส่วน มีเมล็ดเดียว กลม สีดำ เรียบ

พบที่จีนตอนใต้รวมไห่หนาน พม่า เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคตะวันออกที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร เนื้อไม้ใช้ดองเหล้าบำรุงกำลัง

สกุล Neuropeltis Wall. มี 12 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกา ในไทยมี 2 หรือ 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “neuron” เส้นใบหรือสายธนู และ “peltis” โล่ หมายถึงใบประดับที่เป็นแผ่นคล้ายรูปโล่ มีเส้นใบ

ชื่ออื่น   กาโร (ระนอง); นอนหลับ, พญานอนหลับ (นครสวรรค์); มันฤๅษี (ภาคกลาง); ม้ากระทืบโรง (ทั่วไป); มาดพล้ายโรง (นครราชสีมา); ม้าทลายโรง (ทั่วไป); ย่านขี้ไก่ (นครศรีธรรมราช)

ม้าทลายโรง: กิ่งมีช่องอากาศ ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ กลีบดอกแฉกลึก เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ใบประดับขยายในผล (ภาพ: Tim Utteridge)



เอกสารอ้างอิง

Fang, Ruizheng and G. Staples. (1995). Convolvulaceae. In Flora of China Vol. 16: 277.

Staples, G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 447–450.