Index to botanical names
ม่วงไตรบุญ
Gesneriaceae
ไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกเกือบจรดโคน ติดทน ดอกรูปแตรสีม่วง สมมาตรด้านข้าง มี 5 กลีบ กลีบคู่ล่างเว้าเป็นแอ่งรับเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 2 อัน ก้านชูอับเรณูแผ่กว้าง มีเกสรเพศผู้ที่ลดรูปขนาดเล็ก 1 อัน ระหว่างคู่ที่เป็นหมันหรือไม่มี จานฐานดอกเป็นวง รังไข่รูปทรงกระบอก มีก้าน มี 2 คาร์เพล พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ 2 แนว ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งแตกกลางพู รูปกระสวย ห้อยลง เมล็ดจำนวนมาก รูปรีขนาดเล็ก เป็นสันตามยาว มีปุ่มกระจายสกุล Tribounia แยกมาจากสกุล Didymocarpus ตามลักษณะกลีบดอกคู่ล่างเว้าเป็นแอ่งรับเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลมีก้านยาวห้อยลง ไม่บิดเป็นเกลียว เป็นสกุลที่พบเฉพาะในไทย มี 2 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามชื่อ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ ผู้ร่วมวิจัยพืชวงศ์ Gesneriaceae ของไทย
ไม้ล้มลุก สูง 30–40 ซม. มีขนปลายม้วนงอคล้ายตะขอและขนต่อมตามลำต้น แผ่นใบทั้งสองด้าน ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล ใบรูปไข่ ยาว 3–9.2 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบจักซี่ฟันหรือจักมน เส้นแขนงใบข้างละ 5–9 เส้น ก้านใบยาว 3–10 ซม. ช่อดอกยาว 9–17 ซม. ก้านช่อยาว 4–9.5 ซม. ก้านดอกยาว 1–1.4 ซม. กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาว 3.5–4.5 มม. ปลายแหลมยาว ดอกยาว 2–2.5 ซม. หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบรูปรีกว้างเกือบกลม คู่บนกว้างประมาณ 9 มม. ยาวประมาณ 7 มม. กลีบล่างเล็กกว่ากลีบปากบนเล็กน้อย ขอบกลีบมีต่อม ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2.5 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวเท่า ๆ อันที่สมบูรณ์ ไม่มีอันที่ลดรูป รังไข่ยาวประมาณ 6 มม. ก้านสั้น ผลยาว 2–3 ซม.พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ความสูงไม่เกิน 200 เมตร
ชื่อพ้อง Didymocarpus venosus Barnett
ชื่ออื่น ม่วงไตรบุญ, หยาดฟ้า (ทั่วไป)
ม่วงไตรบุญ: มีขนปลายม้วนงอคล้ายตะขอและขนต่อมตามลำต้น แผ่นใบทั้งสองด้าน ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล กลีบเลี้ยง หลอดกลีบดอก และผลสั้น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
ไม้ล้มลุก สูง 50–60 ซม. มีขนต่อมเหนียวและขนปลายม้วนคล้ายตะขอตามลำต้น แผ่นใบทั้งสองด้าน ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล ใบรูปไข่ ยาว 5.5–17 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้ารูปหัวใจ เบี้ยว ขอบจักซี่ฟัน เส้นแขนงใบข้างละ 8–15 เส้น ก้านใบยาว 2.5–11 ซม. ช่อดอกยาว 6–16 ซม. ก้านช่อยาว 3–7 ซม. ก้านดอกยาว 0.8–1.2 ซม. กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาว 0.6–1.2 ซม. ดอกยาว 3.3–3.8 ซม. หลอดกลีบดอกยาว 2.5–3.4 ซม. กลีบรูปกลม คู่บนกว้างและยาว 6–7 มม. กลีบล่างใหญ่กว่ากลีบบนเล็กน้อย มีต่อมตามขอบกลีบและแอ่งบนแผ่นกลีบด้านในประปราย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 9 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 5 มม. มีเกสรเพศผู้ลดรูป รังไข่ยาว 7.5–11 มม. ก้านยาว 7–9.5 มม. ผลยาว 4.5–5.5 ซม.พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ความสูงไม่เกิน 100 เมตร
ม่วงไตรบุญดอกใหญ่: มีขนต่อมเหนียวและขนปลายม้วนคล้ายตะขอตามลำต้น แผ่นใบทั้งสองด้าน ช่อดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอกด้านนอก กลีบเลี้ยงและหลอดกลีบดอกยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Middleton, D.J. and M. Möller. (2012). Tribounia, a new genus of Gesneriaceae from Thailand. Taxon 61(6): 1286–1295.