สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ม่วงเบญจา

ม่วงเบญจา
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Damrongia integra (Barnett) D.J.Middleton & Weber

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. มีขนหยาบตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง และผล ใบรูปไข่ ยาว 7.5–18.5 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนกลม ขอบเกือบเรียบมีขนครุย แผ่นใบมีขนสั้นสีขาวทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 10.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 3.5–7 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายช่อ มี 1–7 ดอก ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. ใบประดับรูปแถบยาวประมาณ 3 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1.5 ซม. แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ปลายกลีบมน ดอกรูปแตร ยาวได้ถึง 4.5 ซม. หลอดกลีบช่วงโคนสีม่วง ด้านในกลีบล่างมีปื้นสีเหลือง 2 แนว กลีบสีขาวรูปกลม เบี้ยวเล็กน้อย ขนาดเท่า ๆ กัน หรือ 3 กลีบล่างยาวกว่าเล็กน้อย ยาวได้ถึง 9 มม. เกสรเพศผู้ติดเหนือโคนหลอดกลีบดอกประมาณ 1 ซม. รังไข่มีขน รูปแถบ ยาว 6 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.5 ซม. โคนมีขนยาว ยอดเกสรพูล่างแบนรูปช้อน ยาวประมาณ 2 มม. ปลายจักตื้น ๆ 2 พู มีปุ่มเล็ก ๆ ผลยาวเลยกลีบเลี้ยงเล็กน้อย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ เศวตฉัตร, สกุล)

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่เขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ ขึ้นตามโขดหินในป่าดิบชื้น ความสูง 700–1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Chirita integra Barnett

ชื่ออื่น   พนมเบญจา, ม่วงเบญจา (ทั่วไป)

ม่วงเบญจา: ใบรูปไข่ ก้านยาว ขอบมีขนครุย ดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายช่อ ดอกรูปแตร หลอดกลีบช่วงโคนสีม่วง กลีบสีขาว ด้านในกลีบล่างมีปื้นสีเหลือง 2 แนว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Barnett, E.C. (1961). Contributions to the Flora of Thailand, LV. Kew Bulletin 15: 249–259.