สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ม่วงผักกาด

ม่วงผักกาด  สกุล
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Henckelia Spreng.

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก บางครั้งมีเนื้อไม้ที่โคนต้น ลำต้นสั้นหรือไม่มี ใบเรียงตรงข้าม เรียงเวียน หรือเรียงรอบข้อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบ ใบประดับติดเป็นคู่หรือเป็นวงรอบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจรดโคนหรือเชื่อมติดเป็นหลอด ดอกรูปแตร กลีบรูปปากเปิด กลีบบน 2 กลีบ ขนาดเล็กกว่ากลีบล่าง 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดใต้จุดกึ่งกลาง อับเรณูเชื่อมติดกัน จานฐานดอกเป็นวงหรือจัก 5 พู รังไข่เรียวจรดก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายจัก 2 พู พูบนลดรูป (chiritoid stigma) พูล่างบางครั้งแยก 2 แฉก ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีกตามยาว เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก

สกุล Henckelia รวมเอาสกุล Chirita หลายชนิด โดยเฉพาะ section Chirita และบางชนิดถูกจำแนกใหม่ไปอยู่ภายใต้สกุล Codonoboea ปัจจุบันมีประมาณ 55 ชนิด พบที่ศรีลังกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม ในไทยมีประมาณ 5 ชนิด ส่วนมากไม่พบตามเขาหินปูน ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Leo Victor Felix Henckel von Donnersmarck (1785–1861)


ม่วงผักกาด
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Henckelia anachoreta (Hance) D.J.Middleton & Mich. Möller

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 35 ซม. ใบเรียงตรงข้ามห่าง ๆ รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาวได้ถึง 20 ซม. โคนกลมหรือเว้าตื้น เบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีขนประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 7 ซม. ช่อดอกมี 1–7 ดอก ก้านช่อสั้นหรือยาวได้ถึง 8 ซม. ใบประดับรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 0.5–1.5 ซม. มีขนครุย ก้านดอกยาว 0.5–1.8 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวได้ถึง 1.4 ซม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 3–7.5 มม. มีขนประปรายด้านนอก หลอดกลีบดอกสีขาว ยาว 2.5–4 ซม. กลีบสีขาวอมม่วง ด้านในมีปื้นสีเหลือง กลีบล่างยาว 1.2–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1.2 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 2–3 อัน ยาว 3–5 มม. รังไข่ยาว 2–3 ซม. ยอดเกสรเพศเมียพูล่างจัก 2 พู ยาว 3.5–4.5 มม. ผลยาว 7.5–17 ซม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามโขดหินในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

ชื่อพ้อง  Chirita anachoreta Hance

ม่วงผักกาด: ใบเรียงตรงข้าม มีขนประปรายทั้งสองด้าน ขอบจักฟันเลื่อย กลีบดอกสีขาวอมม่วง มีปื้นสีเหลืองด้านใน ยอดเกสรเพศเมียจัก 2 พู (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

ม่วงผักกาดดอย
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Henckelia pumila (D.Don) A.Dietr.

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 45 ซม. ลำต้นมักทอดนอน มีขนสั้นนุ่มหรือขนยาวตามลำต้น และแผ่นใบทั้งสองด้าน ใบตรงข้ามขนาดมักไม่เท่ากัน รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 2–20 ซม. ขอบจักซี่ฟัน โคนเบี้ยว มีจุดกลม ๆ สีม่วงตามเส้นใบ ก้านใบยาวได้ถึง 3.5 ซม. ช่อดอกมี 1–7 ดอก ก้านช่อยาวได้ถึง 7 ซม. ใบประดับรูปขอบขนาน ยาว 0.5–1.6 ซม. มีขนครุย ก้านดอกยาวได้ถึง 2 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 0.4–1.2 ซม. กลีบรูปสามเหลี่ยมขนาดไม่เท่ากัน ยาว 0.4–1.2 ซม. ปลายเรียวแหลมคล้ายเขา มีขนยาวด้านนอก หลอดกลีบดอกสีขาวหรืออมม่วง ยาว 2.5–4.5 ซม. กลีบสีม่วง ด้านในมีปื้นสีเหลือง กลีบรูปกลม กลีบล่างยาว 0.6–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 2 อัน ยาว 2–4 มม. รังไข่ยาว 2.5–3 ซม. ยอดเกสรเพศเมียพูล่างจัก 2 พู ยาวประมาณ 3 มม. ผลยาวได้ถึง 12 ซม.

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ น่าน ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1200–2000 เมตร

ชื่อพ้อง  Chirita pumila D.Don

ม่วงผักกาดดอย: แผ่นใบและกลีบเลี้ยงมีขนยาว ใบตรงข้ามขนาดมักไม่เท่ากัน ขอบจักซี่ฟัน โคนเบี้ยว กลีบดอกด้านในมีปื้นสีเหลือง ยอดเกสรเพศเมียพูล่างจัก 2 พู (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Weber, A., D.J. Middleton, A. Forrest, R. Kiew, C.L. Lim, A.R. Rafidah, S. Sontag, P. Triboun, Y.G. Wei, T.L. Yao and M. Möller. (2011). Molecular systematics and remodelling of Chirita and associated genera (Gesneriaceae). Taxon 60(3): 777–778.

Wood, D. (1974). A revision of Chirita (Gesneriaceae). Note from the Royal Botany Garden Edinburgh 33(1): 161–166.