สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มูกเบี้ย

มูกเบี้ย
วันที่ 28 เมษายน 2560

Euphorbia bifida Hook. & Arn.

Euphorbiaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 70 ซม. ลำต้นมักมีสีแดง เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กเชื่อมติดกัน ปลายเรียบหรือแฉกลึก ใบรูปขอบขนานถึงรูปแถบ ยาว 1.2–2.3 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนเบี้ยว ข้างหนึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีปุ่มใสกระจาย คล้ายมีนวล เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 8–10 เส้น ก้านใบยาว 1–2 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ช่อย่อยเรียงแน่นแบบช่อกระจุกซ้อน 5–10 ช่อ ก้านช่อยาว 2–4 มม. ใบประดับรูปถ้วย สูงประมาณ 1 มม. มีต่อม 4 ต่อม สีแดงอมน้ำตาล รยางค์เป็นแผ่นคล้ายรูปใบพาย สีขาวหรือชมพู ผลเกลี้ยง จัก 2–3 พู ยาวประมาณ 2 มม. มีก้านสั้น ๆ เมล็ดยาวประมาณ 1.4 มม. ผิวบุ๋มกระจาย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ น้ำนมราชสีห์, สกุล)

พบที่จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ขึ้นตามที่โล่ง ป่าเต็งรัง เขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 850 เมตร ใบมีความผันแปรสูง

ชื่ออื่น   มูกน้อย (โซ่-นครพนม); มูกเบี้ย (นครพนม); ยาแก้ฮากเหลือง (ลำปาง)

มูกเบี้ย: ลำต้นส่วนมากมีสีแดง ปลายหูใบแฉกลึก ใบรูปขอบขนานถึงรูปแถบ โคนเบี้ยว เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ช่อดอกย่อยเรียงแน่นแบบช่อกระจุกซ้อน ใบประดับรูปถ้วย รยางค์เป็นแผ่นสีขาว ผลจัก 2–3 พู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Esser, H.-J. (2005). Euphorbiaceae (Euphorbia). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 269.