ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. มีรากสะสมอาหาร ยาวได้ถึง 20 ซม. มีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวตามตายอด กิ่งอ่อน ใบอ่อน เส้นแขนงใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 3–8 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเรียวสอบ ขอบจักซี่ฟันตื้น ๆ ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามซอกใบใกล้ยอด ยาว 1–1.5 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปลิ่มแคบ ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มม. ติดทน ดอกสีขาว รูปดอกเข็ม ยาว 3–4 ซม. มี 5 กลีบ แฉกลึกประมาณ 1 ซม. รูปใบหอกกลับ หลอดแผ่นเกสรเพศผู้ปลายจักเป็นพู มีรยางค์รูปเส้นด้าย พับงอกลับ โค้งเข้า อับเรณู 10 อัน ติดระหว่างจัก สีส้ม จานฐานดอกเป็นหลอดบาง ๆ หุ้มรังไข่ รังไข่มีขนสั้นนุ่ม มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเป็นหลอดยาว 5–7 ซม. ปลายจัก 5 พู ผลแห้งแตก รูปกรวยกลับ มี 5 สัน ยาวประมาณ 1 ซม. เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้ม
พบที่พม่า และฟิลิปปินส์ ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร
สกุล Munronia Wight มี 5 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ กระดึงเพียก M. pinnata (Wall.) W. Theob. ใบประกอบมีใบย่อย 1–4 คู่ การกระจายพันธุ์กว้างกว่ามูกเตี้ย ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ Sir William Munro (1818–1880)
|