สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มือพระนารายณ์

มือพระนารายณ์  สกุล
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schefflera J.R.Forst. & G.Forst.

Araliaceae

ไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้เถา บางครั้งอิงอาศัย สมบูรณ์เพศหรือมีดอกเพศผู้ร่วมต้น ไม่มีหนาม หูใบอยู่ในซอก เชื่อมติดก้านใบ ใบประกอบรูปฝ่ามือ เรียงเวียน ก้านใบย่อยส่วนมากเป็นข้อ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่งหรือข้างกิ่ง กลีบเลี้ยงขอบเรียบหรือจักตื้น ๆ 5 แฉก กลีบดอกมี 5–11 กลีบ เรียงจรดกัน แยกหรือเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ส่วนมากเท่าจำนวนกลีบดอกหรือมากกว่า จานฐานดอกหนา รังไข่ส่วนมากมี 5–10 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียแยกหรือเชื่อมติดกันหรือเป็นฐานก้านเกสรเพศเมีย ผลผนังชั้นในแข็ง ส่วนมากมี 5–10 เมล็ด

สกุล Schefflera มีมากกว่า 1000 ชนิด พบทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 20 ชนิด ข้อมูลด้านชีวโมเลกุลในปัจจุบัน อาจจำแนกย่อยออกเป็นหลายสกุล ซึ่งสกุล Schefflera ที่แท้จริงอาจจะพบเฉพาะแถบหมู่เกาะแปซิฟิก ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวโปแลนด์ Jakop Christoph Scheffler (1698–1745)


มือพระนารายณ์
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schefflera elliptica (Blume) Harms

Araliaceae

ไม้เถาหรืออิงอาศัย สูงได้ถึง 3 ม. หูใบยาว 5–6 มม. ใบย่อยมี 5–7 ใบ ก้านยาว 4–18 ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 8–17 ซม. ก้านใบย่อยยาว 1.5–7 ซม. แกนกลางช่อดอกยาวได้ถึง 9 ซม. มีขนรูปดาวสั้นนุ่ม ใบประดับรูปสามเหลี่ยมมน ยาว 0.8–1.5 ซม. ช่อแยกแขนงยาว 5–18 ซม. ช่อซี่ร่มมี 5–13 ช่อ ก้านช่อยาว 0.5–2.5 ซม. ใบประดับเรียวแคบ ยาวประมาณ 1 ซม. มี 7–16 ดอก ก้านดอกยาว 2–5 มม. ขยายในผล กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1.5–2.5 มม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. จานฐานดอกรูปกรวย รังไข่มี 5 ช่อง ยอดเกสรเพศเมีย 5 อัน ไร้ก้าน ติดทน ผลรูปไข่กว้าง ยาว 3.5–5 มม. สุกสีส้ม

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ และเวียดนาม ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร ต้นและเปลือกรากเคี้ยวแก้อาการท้องไส้ปั่นป่วน เปลือก ราก กิ่ง ใบ และผล บดประคบแก้บวม ปวดข้อ และกระดูกร้าว

ชื่อพ้อง  Sciodaphyllum ellipticum Blume

ชื่อสามัญ  Climbing umbrella tree

ชื่ออื่น   นิ้วมือพระนารายณ์ (ภาคใต้); มือพระนารายณ์ (ตราด); เล็บมือนาง (ภาคกลาง); อ้อยช้าง (อุตรดิตถ์)

มือพระนารายณ์: ใบย่อยมี 5–7 ใบ เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมีย 5 อัน ไร้ก้าน ติดทน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

มือพระนารายณ์
วันที่ 17 สิงหาคม 2559

Aralidium pinnatifidum (Jungh. & de Vriese) Miq.

Torricelliaceae

ดูที่ คดนกกูด

มือพระนารายณ์ใบวน
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schefflera poomae Esser & Jebb

Araliaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 ม. หูใบรูปรี ยาว 1–1.3 ซม. ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ก้านใบยาว 4–20 ซม. ใบย่อยมี 6–10 ใบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 16–20 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนกลมหรือเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น ก้านใบย่อยยาว 2.5–5 ซม. แกนช่อหนา สั้น ช่อแขนงย่อยแบบช่อกระจะ มี 8–9 ช่อ ยาว 30–50 ซม. แต่ละช่อมีช่อซี่ร่ม 15–25 ช่อ ไร้ก้านหรือก้านยาว 1–3 มม. ช่อที่โคนยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อซี่ร่มมี 9–15 ดอก ก้านดอกยาว 2–6 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวเท่า ๆ กลีบดอก ดอกสีขาว มี 6 กลีบ ยาวประมาณ 3 มม. ก้านชูอับเรณูยาวกว่ากลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันประมาณ 1 มม. ยอดเกสร 6 อัน ผลรูปรี ยาว 4–6 มม. มีร่องชัดเจน

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 850–1000 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามดร.ราชันย์ ภู่มา

มือพระนารายณ์ใบวน: ใบย่อยมี 6–10 ใบ ช่อแขนงย่อยแบบช่อกระจะ กลีบดอกมี 6 กลีบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

มือพระนารายณ์ขน
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schefflera petelotii Merr.

Araliaceae

ไม้พุ่มอิงอาศัย สูงได้ถึง 5 ม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นตามกิ่งอ่อน หูใบ ก้านใบ แผ่นใบอ่อนด้านล่าง ช่อดอก ใบประดับ และดอก หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว 1.5–2 ซม. ใบย่อยมี 5–6 ใบ ก้านใบยาว 10–23 ซม. ใบรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 12–26 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลม ขอบจักซี่ฟันช่วงปลาย ก้านใบย่อยยาว 1.5–7 ซม. ก้านช่อดอกยาว 3–6 ซม. ใบประดับขนาดเล็กจำนวนมาก ช่อแยกแขนงยาว 6–19 ซม. มีช่อซี่ร่ม 7–18 ช่อ ก้านช่อยาว 0.5–2 ซม. มี 10–25 ดอก ติดเป็นผล 4–6 ผล ก้านดอกยาว 1–3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมมน ยาวประมาณ 1.5 มม. ยอดเกสรเพศผู้ 5 อัน ไร้ก้าน ติดทน ผลรูปรี ยาว 7–8 มม. สุกสีส้มเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมเทา

พบที่จีนตอนใต้ เวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงราย ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

มือพระนารายณ์ขน: ช่อดอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ขอบจักซี่ฟันช่วงปลายใบ ผลแก่สีม่วงอมเทา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

มือพระนารายณ์ขาว
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schefflera hypoleucoides Harms

Araliaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. ก้านใบยาวได้ถึง 65 ซม. ใบย่อยมี 5–9 ใบ รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ บางครั้งจัก 3–7 พู ยาว 14–30 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมนหรือกลม ขอบจักซี่ฟันช่วงปลาย แผ่นใบด้านล่างมีขนและขนรูปดาวประปราย มีนวล ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 12 ซม. ช่อดอกยาว 22–35 ซม. โคนมีใบประดับเป็นกระจุก ยาว 1–2 ซม. ช่อแยกแขนงช่วงโคนยาว 7–17 ซม. ช่วงปลายสั้นลงได้ถึง 2 ซม. มีช่อซี่ร่มประมาณ 25 ช่อ แต่ละช่อมี 15–40 ดอก ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 5–8 มม. ขยายในผลได้ถึง 1.5 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ แยกกัน รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2.5 มม. ด้านนอกมีขนรูปดาวประปราย ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน ยาวประมาณ 2 มม. ติดทน ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 มม. มีร่องตื้น ๆ

พบที่จีนตอนใต้ และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ พิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภูหลวง จังหวัดเลย ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1400–2500 เมตร

มือพระนารายณ์ขาว: ใบย่อยจัก 3–7 พู ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Esser, H.-J. and M.H.P. Jebb. (2010). A new Schefflera and taxonomic notes on Araliaceae from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 38: 162–163.

Xiang, Q. and P.P. Lowry. (2007). Araliaceae. In Flora of China Vol. 13: 454, 458–459.