สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มันสำปะหลัง

มันสำปะหลัง
วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

Manihot esculenta Crantz

Euphorbiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 7 ม. ส่วนต่าง ๆ มีน้ำยางสีขาว รากสะสมอาหารขนาดใหญ่ กิ่งมักมีริ้วสีแดง หูใบรูปใบหอก ยาว 5–7 มม. เรียบหรือมีติ่งแหลม 1–2 อัน ร่วงเร็ว ใบรูปฝ่ามือ ส่วนมากมี 3–9 พู โคนเชื่อมติดกันแบบก้นปิด เหนือโคนใบประมาณ 2 ซม. แต่ละพูเรียวแคบ รูปใบหอกกลับ ยาว 8–18 ซม. โคนมักเบี้ยว ยกเว้นพูกลาง ปลายแหลมยาว แผ่นใบบางครั้งด่าง ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มี 1–5 ช่อ ยาว 5–8 ซม. ดอกเพศผู้อยู่ช่วงปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่ที่โคนช่อ ก้านดอกยาว 5–8 ซม. ดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่ง ยาวประมาณ 7 มม. สีม่วงอมแดง ด้านในมีขน จานฐานดอกมี 10 พู เกสรเพศผู้มีประมาณ 10 อัน เรียง 2 วง ยาว 6–7 มม. ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงแยกหรือเชื่อมติดกันที่โคน ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรโค้งงอ มีรอยจีบ ผลรูปรี ยาว 1.5–1.8 ซม. แห้งแตกเป็น 3 ซีก มีครีบคล้ายปีกตามยาว 6 ปีก ผิวสาก แต่ละช่องมีเมล็ดเดียว เมล็ดรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 ซม.

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจทั่วไปในเขตร้อนเพื่อเอาแป้งมันจากหัวใต้ดิน มีสาร hydrocyanic acid มีพิษถึงตายได้ถ้ากินดิบ ปลูกง่าย ทนแล้ง สายพันธุ์ด่างบางครั้งพบปลูกเป็นไม้ประดับ

สกุล Manihot มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล มีประมาณ 60 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด อีกชนิดคือ ยางเซียร่า Manihot carthaginensis subsp. glaziovii (Müll.Arg.) Allem ที่ปลูกเพื่อเอาน้ำยาง แต่ปริมาณและคุณภาพไม่เท่ายางพารา ชื่อสกุลมาจากภาษาบราซิเลี่ยน “manioc” ที่ใช้เรียกพืชชนิดนี้

ชื่อสามัญ  Cassava, Manioc, Tapioca, Yuca

ชื่ออื่น   ต้างน้อย, ต้างบ้าน (ภาคเหนือ); มันตัน, มันไม้ (ภาคใต้); มันสำปะหลัง, มันสำโรง, สำปะหลัง (ภาคกลาง); มันหิ่ว (พังงา); อุบีกายู (มาเลย์-ภาคใต้)

มันสำปะหลัง: ใบรูปฝ่ามือ หูใบรูปใบหอก ผลรูปรี มีครีบคล้ายปีกตามยาว 6 ปีก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Li, B. and M.G. Gilbert. (2008). Euphorbiaceae (Manihot). In Flora of China 11: 275–276.

Welzen, P.C. van, Q.D. Nguyen and R.C.K. Chung. (2007). Flora of Thailand Vol. 8 part 2: 437–440.