สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มันกะทาด

มันกะทาด
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Dioscorea bulbifera L.

Dioscoreaceae

ไม้เถาล้มลุก ยาวได้ถึง 25 ม. ดอกแยกเพศ หัวใต้ดินกลมหรือรูปทรงกระบอก ยาว 10–20 ซม. ลำต้นเกลี้ยง ไม่มีหนาม ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้าลึก เส้นโคนใบ 5–11 เส้น ก้านใบยาว 5–12 ซม. มีร่องตรงกลาง ขอบบางคล้ายครีบ มีหัวย่อย (bulbils) ตามซอกใบ กลม รูปไข่ หรือรูปทรงกระบอก ช่อดอกแบบช่อหางกระรอก ออกตามซอกใบ 2–6 ช่อ ห้อยลง ยาว 4–10 ซม. ก้านช่อสั้น ช่อดอกเพศผู้ออก 1–2 ดอก ต่อกระจุก ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ดอกสีขาวอมเขียวหรือชมพู กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง รูปขอบขนาน ยาว 1.5–2.8 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบ เป็นหมันในดอกเพศเมีย ฐานดอกยาวประมาณ 2.5 มม. มีครีบตามยาว 3 ครีบ รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียปลายจัก 3 พู ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก รูปขอบขนาน มีปีกรอบ 3 ปีก ยาว 2.5–5 ซม. รวมปีก เมล็ดรูปรี แบน ยาว 3–5 มม. ปลายมีปีกบางรูปขอบขนาน ยาว 1–1.5 ซม.

พบในอเมริกา แอฟริกา และเอเชียเขตร้อน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงจนถึง 1400 เมตร หัวใต้ดินและหัวย่อยใช้ปรุงอาหารคล้ายกลอย D. hispida Dennst. มีสารแอลคาลอยด์ และซาโปนินมีพิษ ทางภาคกลางเรียกว่า ว่านพระฉิม

สกุล Dioscorea L. มี 450–600 ชนิด ในไทยมีประมาณ 42 ชนิด หลายชนิดเป็นพืชอาหาร เช่น กลอย D. hispida Dennst. มันมือเสือ D. esculenta (Lour.) Burkill ที่ลำต้นและกิ่งมีหนาม หัวรูปทรงกระบอก หรือรูปนิ้วมือในต้นที่ปลูก และมันเสา D. alata L. ลำต้นมีเหลี่ยมเป็นปีก หัวใต้ดินและชั้นผิวมีหลายรูปแบบ ชื่อสกุลตั้งตามนายแพทย์ชาวกรีกในช่วงศตวรรษที่ 1 Pedianos Dioscorides

ชื่อสามัญ  Air potato

ชื่ออื่น   กลิ้งกลางดง (ภาคเหนือ); เดะควา (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); เถามันนก (สุราษฎร์ธานี); เบี้ย (จันทบุรี); มะมู (ภาคเหนือ); มันกะทาด (นครราชสีมา); มันขมิ้น (ภาคกลาง); มันตกเลือด (นครศรีธรรมราช); มันทราย, มันนก, มันนางนอน (ชลบุรี); มันแนบ (สระบุรี); มันเสิน (นครศรีธรรมราช); มันหมู (ชลบุรี); มันหลวง (ประจวบคีรีขันธ์); มันหามเป้า (ภาคเหนือ); มันอีโม้ (สุโขทัย); มันอีลุ้ม (จันทบุรี); ละสา, เล่าะแจ๊มื่อ (กะเหรียง-แม่ฮ่องสอน); ว่านพระฉิม, ว่านสามพันตึง (ภาคกลาง); หำเป้า (ภาคเหนือ); อีรุมปุมเป้า (สระแก้ว); อึ้งเอี๊ยะ (จีน)

มันกะทาด: ช่อดอกแบบช่อหางกระรอก ห้อยลง มีหัวย่อยตามซอกใบ ผลรูปขอบขนาน (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Wilkin, P. and C. Thapyai. (2009). Dioscoreaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(1): 1–140.