Index to botanical names
มังตาน
Theaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. กิ่งมีช่องอากาศ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 4.5–18 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเรียวสอบถึงกลม ขอบเรียบเป็นคลื่น หรือจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 0.5–3.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว 2–4 ซม. ใบประดับย่อย 2 ใบ ติดบนกึ่งกลางก้านดอก ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปรีกว้าง ยาวประมาณ 3 มม. มีขนครุย ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ปลายกลม ยาว 1.5–2 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดที่โคนกลีบดอก ยาว 0.8–1 ซม. อับเรณูติดไหวได้ รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2–6 เม็ด มีขนคล้ายไหม ก้านเกสรเพศเมียยาว 5–7 มม. ยอดเกสรจัก 5 พู เป็นตุ่ม ผลแห้งแตกตามรอยประสาน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–4 ซม. เกลี้ยงหรือมีขนคล้ายไหม มักมีช่องอากาศ เมล็ดแบนรูปคล้ายไต ยาว 0.8–1 ซม. รวมปีกพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าโปร่งชายทะเล ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 2500 เมตร มีความผันแปรสูง โดยเฉพาะขอบใบที่มีทั้งเรียบ จักมน หรือจักซี่ฟัน เคยแยกออกเป็น 2 ชนิดย่อย รากและผลใช้บรรเทาพิษแมลงป่อง เปลือกมีสารทำให้ระคายเคือง ใช้เบื่อปลาสกุล Schima Reinw. ex Blume อยู่ภายใต้เผ่า Gordonieae จำนวนชนิดยังไม่แน่นอน อาจมีได้ถึง 20 ชนิด ในไทยอาจมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “skiasma” ร่มเงา ตามลักษณะวิสัยที่มีทรงพุ่มหนาแน่น
ชื่อพ้อง Gordonia wallichii DC.
ชื่อสามัญ Chinese guger tree, Needle wood
ชื่ออื่น กรรโชก (ภาคตะวันออก); กาโซ้ (นครพนม, ยะลา); คาย (ภาคเหนือ); คายโซ่, จำปาดง (เลย, หนองคาย); ตื้อซือซะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ทะโล้ (ภาคเหนือ); บุนนาค (นครราชสีมา, ตราด); พระราม (เลย, หนองคาย); พังตาน, พันตัน, มังตาน (ภาคใต้); มือแดกาต๊ะ (มาเลย์-ภาคใต้); สารภีป่า (ภาคเหนือ); หมูพี (เงี้ยว-เชียงใหม่)
มังตาน: ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแห้งแตก เกลี้ยงหรือมีขนคล้ายไหม (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Keng, H. (1972). Theaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 144–145.
Min, T. and B. Bartholomew. (2007). Theaceae. In Flora of China Vol. 12: 422.