สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะไฟ

มะไฟ  สกุล
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea Lour.

Phyllanthaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น แยกเพศต่างต้น หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียนหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ปลายก้านใบพองหนา เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ กิ่ง หรือลำต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกประมาณ 3 ดอก ดอกเพศเมียกระจุกละ 1–3 ดอก กลีบเลี้ยงส่วนมากมี 3–6 กลีบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก เกสรเพศผู้สั้นกว่ากลีบเลี้ยง เป็นหมันในดอกเพศเมียหรือเป็นต่อมคล้ายจานฐานดอก รังไข่ 2–4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ลดรูปในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมีย 2–4 อัน ยอดเกสรเรียบหรือจัก 2 พู หรือแยกจรดโคน ผลสด เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

สกุล Baccaurea เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Antidesmatoideae มีประมาณ 50 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 13 ชนิด ส่วนใหญ่พบทางภาคใต้ ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “baca” หรือ “bacca” ผลสด และ “aureus” สีเหลืองทอง ตามลักษณะของผลบางชนิด


มะไฟ
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea ramiflora Lour.

Phyllanthaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 7–25 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม เส้นแขนงใบข้างละ 4–9 เส้น ก้านใบยาว 1–6 ซม. ช่อดอกออกเป็นกระจุกหลายช่อ ยาว 8–15 ซม. ช่อดอกเพศเมียยาวไม่เกิน 10 ซม. ดอกสีเหลือง ใบประดับยาว 3–4.5 มม. ไม่มีใบประดับย่อย ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 1–2.5 มม. กลีบเลี้ยง ยาว 1–2.5 มม. ดอกเพศเมียก้านดอกและกลีบเลี้ยงยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 5–8 อัน ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรยาวประมาณ 0.5 มม. เรียบ ผลกลมหรือรูปไข่ ปลายมีติ่งแหลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.8 ซม. สุกสีเหลือง เมล็ดยาว 1–1.5 ซม. เยื่อหุ้มสีขาวหรืออมเหลือง

พบที่อินเดียรวมหมู่เกาะนิโคบาร์ ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1700 เมตร ปลูกเป็นไม้ผล มีหลายพันธุ์ เปลือกและเนื้อไม้มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ

ชื่อสามัญ  Burmese grape

ชื่ออื่น   ขี้หมี (ภาคเหนือ); แซเครือแซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ผะยิ้ว (เขมร-สุรินทร์); มะไฟ (ทั่วไป); มะไฟกา (ภาคใต้); มะไฟป่า (ภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ส้มไฟ (ภาคใต้); หัมกัง (เพชรบูรณ์)

มะไฟ: ช่อผลออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ผลกลมหรือรูปไข่ ปลายมีติ่งแหลม (ภาพ: พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)

มะไฟเต่า
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea parviflora (Müll.Arg.) Müll.Arg.

Phyllanthaceae

ดูที่ มะไฟกา

มะไฟกา
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea parviflora (Müll.Arg.) Müll.Arg.

Phyllanthaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 5–23 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่มหรือเรียวสอบ เส้นแขนงใบข้างละ 5–10 เส้น ก้านใบยาว 0.5–5.5 ซม. ช่อดอกออกเป็นกระจุกหลายช่อที่โคนต้น ยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ดอกสีขาว อมเหลือง หรือแดง ก้านดอกส่วนมากยาวได้ถึง 6 มม. ดอกเพศผู้กลีบเลี้ยงยาว 0.5–3 มม. ดอกเพศเมียแคบและยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 5–7 อัน เกสรเพศเมียไร้ก้านหรือยาวได้ถึง 2 มม. ยอดเกสรยาวได้ถึง 1.5 มม. จัก 2 พู ผลรูปกระสวย เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม. ยาว 1.5–3 ซม. มีสันตามยาว 4–6 สัน สีน้ำตาลแดง เปลี่ยนเป็นสีม่วง เมล็ดยาว 1–1.5 ซม. เยื่อหุ้มสีแดงหรือม่วง

พบที่อินเดีย คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1250 เมตร

ชื่อพ้อง  Pierardia parviflora Müll.Arg.

ชื่อสามัญ  Chinese lantern tree

ชื่ออื่น   มะไฟกา (ภาคใต้); มะไฟเต่า (สตูล); ส้มไฟดิน, ส้มไฟป่า (นครศรีธรรมราช)

มะไฟกา: ช่อดอกออกที่โคนต้น ผลรูปกระสวย (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, ธรรมนูญ เต็มไชย)

มะไฟกา
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea ramiflora Lour.

Phyllanthaceae

ดูที่ มะไฟ

มะไฟป่า
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea ramiflora Lour.

Phyllanthaceae

ดูที่ มะไฟ

มะไฟลิง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Baccaurea bracteata Müll.Arg.

Phyllanthaceae

ดูที่ ระไมป่า

มะไฟลิง
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Baccaurea racemosa (Reinw. ex Blume) Müll.Arg.

Phyllanthaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน แกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 5–22 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม เส้นแขนงใบข้างละ 4–10 เส้น ก้านใบยาว 1.2–7.5 ซม. ช่อดอกออกเป็นกระจุก 1–5 ช่อ ตามลำต้นหรือใต้ใบ ช่อเพศผู้ยาวได้ถึง 10 ซม. ช่อเพศเมียยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ดอกสีเหลืองอมเขียว ก้านดอกยาวได้ถึง 7 มม. กลีบเลี้ยงยาว 1–6 มม. ในดอกเพศเมียก้านดอกและกลีบเลี้ยงยาวกว่าในดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ 5–7 อัน เกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มม. ยอดเกสรยาวประมาณ 0.3 มม. เรียบ ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. สุกสีเหลืองอมส้มหรือชมพูอมแดง เมล็ดยาวประมาณ 1 ซม. เยื่อหุ้มสีม่วงหรืออมฟ้า

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ชวา บอร์เนียว ซูลาเวซี ในไทยพบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ และป่าพรุน้ำจืด

ชื่อพ้อง  Coccomelia racemosa Reinw. ex Blume

มะไฟลิง: ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกใต้ใบ ผลกลม สุกสีเหลืองอมส้ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Haegens, R.M.A.P. and P.C. van Welzen. (2007). Euphorbiaceae (Baccaurea). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 107–119.

Li, B. and M.G. Gilbert. (2008). Euphorbiaceae (Baccaurea). In Flora of China Vol. 11: 216.