Index to botanical names
มะแฟน
Burseraceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. แยกเพศต่างต้น มีน้ำยางใส เปลือกชั้นในหนาเป็นชั้น มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก หรือเกลี้ยง ไม่มีหูใบ ใบประกอบปลายคี่ ใบย่อยมี 2–4 คู่ ก้านใบประกอบยาว 5–7 ซม. ใบย่อยรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3–15 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยหรือเรียบ ก้านใบสั้น ใบย่อยใบปลายยาวได้ถึง 4 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาวได้ถึง 15 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ดอกสีครีม ก้านดอกยาว 1–2 มม. ขยายในผล กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กลีบดอก 5 กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดด้านนอกจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูสั้น เป็นหมันในดอกเพศเมีย จานฐานดอกเป็นวง จักมน รังไข่มีขนสั้นนุ่ม มี 3–5 ช่อง ลดรูปในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรจัก 5 พู ผลผนังชั้นในแข็ง จักเป็นพู เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2.5 ซม. ผนังหนา ส่วนมากมี 1–3 ไพรีน ขนาด 0.5–1 ซม. ใบเลี้ยงรูปฝ่ามือพบที่อินเดีย ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร ผลรสเปรี้ยว บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหารสกุล Protium Burm.f. มีประมาณ 85 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาเขตร้อน ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลอาจมาจากภาษาชวาที่ใช้เรียกพืชสกุลนี้
ชื่อพ้อง Bursera serrata Wall. ex Colebr.
ชื่ออื่น กะตีบ, กะโปกหมา (ประจวบคีรีขันธ์); ค้อลิง (ชัยภูมิ); ปี (ภาคเหนือ); ผี, พีแซ, ฟีแซ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); แฟนส้ม (เลย); มะตรี (เขมร-จันทบุรี); มะแฟน (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); ส้มแป้น (นครราชสีมา); สัพะตรี (เขมร-จันทบุรี)
มะแฟน: ใบประกอบ ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ผลจักเป็นพู (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Peng, H. and M. Thulin. (2008). Burseraceae. In Flora of China Vol. 11: 106.
Pooma, R. (1999). A preliminary account of Burseraceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 27: 56.