ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. แยกเพศต่างต้นหรือมีดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น กิ่งมีช่องอากาศ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ก้านดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบประกอบปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว 5–15 ซม. แกนกลางช่วงปลายมีปีกแคบ ๆ โคนก้านป่อง ใบย่อย 3–6 คู่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 3.5–12 ซม. โคนเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 10–18 เส้น เรียงขนานกัน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบสั้นหรือไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้ยาว 30–40 ซม. ช่อดอกเพศเมียสั้นกว่า ก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก ดอกสีเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 มม. ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ 5 อัน จานฐานดอกเป็นวง รังไข่มีช่องเดียว ออวุลมีเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียสั้น มี 3 อัน ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 มม. ปลายมีโคนก้านเกสรเพศเมียติดทน ผลแก่สีแดง
พบที่อินเดีย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และสุมาตรา ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มักขึ้นตามป่าเต็งรังผสมสน และป่าดิบเขา ความสูง 900–1300 เมตร ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะ ลดสารอนุมูลอิสระ แก้แพ้ เมล็ดและผลกินแก้ปวดท้อง ท้องร่วง
สกุล Rhus L. มีประมาณ 250 ชนิด ส่วนมากพบในเขตอบอุ่น ในไทยมี 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “rhous” ซึ่งมาจากคำว่า “rhodo” หรือ “rhodos” สีแดง หมายถึงผลที่มีสีแดง เป็นชื่อกรีกโบราณที่ใช้เรียกพืชสกุลนี้
|