ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. แยกเพศต่างต้น ลำต้นมักมีร่องและพูพอน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงประปรายหรือหนาแน่นตามกิ่งอ่อน หูใบ ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ใบประดับ และกลีบเลี้ยง หูใบรูปแถบ ยาว 4–6 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอกหรือแกมรูปไข่กลับ ส่วนมากยาว 10–18 ซม. ปลายแหลมยาว โคนแหลมหรือกลม ก้านใบสั้นหรือยาวกว่า 1 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อกระจะออกตามซอกใบ ใบประดับขนาดเล็ก แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ไร้ก้าน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเกินกึ่งหนึ่ง ปลายแยกเป็น 3 กลีบ ปลายมนกลม ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 25 ซม. แยกแขนง ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงยาว 3–4 มม. จานฐานดอกเป็นวงหรือจักเป็นพู เกสรเพศผู้ 3–4 อัน ยื่นพ้นหลอดกลีบเลี้ยงเล็กน้อย ช่อดอกเพศเมียสั้นกว่าเพศผู้ ก้านดอกยาว 0.5–2 มม. ขยายในผล จานฐานดอกเป็นวง รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีช่องเดียว ออวุล 2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมีย 3–4 อัน สั้น ติดทน ผลรูปรี ยาว 0.5–1.2 ซม. ผลแก่สีแดงเปลี่ยนเป็นสีดำ ส่วนมากมีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดียรวมหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน บอร์เนียว ชวา ฟิลิปปินส์ นิวกินี หมู่เกาะแปซิฟิก และฮาวาย ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ และเป็นไม้ผล เคยแยกเป็น var. pubescens Petra Hoffm. ซึ่งส่วนต่าง ๆ มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น รากและใบมีพิษ แต่มีสรรพคุณแก้แผลฟกช้ำ
สกุล Antidesma Burm. ex L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Antidesmatoideae มีประมาณ 150 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แอฟริกา ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 18 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “anti” ต่อต้าน และ “desma” แถบหรือเชื่อมติดกัน อาจหมายถึงลักษณะของช่อผลที่ผลเป็นสายไม่เชื่อมติดกัน
|
ชื่อพ้อง Stilago bunius L.
|
|
ชื่อสามัญ Chinese laurel, Currentwood
|
ชื่ออื่น บ่าเม่าฤๅษี, มะเม่าดง (เชียงใหม่); เม่าช้าง, แมงเม่าควาย (จันทบุรี)
|
|
มะเม่าดง: ใบเรียงเวียน ช่อผลออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ผลแก่สีแดง สุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
|
|