Index to botanical names
มะเนียงน้ำ
Sapindaceae
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 15–30 ม. เปลือกเรียบ มีช่องอากาศ ยอดมีเกล็ดตาหุ้ม ใบประกอบรูปฝ่ามือ เรียงตรงข้าม มี 5–9 ใบ ก้านใบยาว 10–25 ซม. ใบย่อยรูปใบหอกกลับ ใบกลางใหญ่กว่าใบข้าง ยาว 12–35 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบจำนวนมาก ก้านใบย่อยสั้นหรือยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวถึง 70 ซม. รวมก้าน ช่อกระจุกยาว 1.5–8 ซม. ก้านดอกยาว 3–7 มม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 4–8 มม. ปลายแยกเป็น 4 กลีบ ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบดอก 4 กลีบ สีขาว มีปื้นเหลือง โคนสีส้มหรือแดง กลีบขนาดไม่เท่ากัน รูปใบหอกกลับ ยาว 2–2.5 ซม. ด้านนอกมีขนละเอียด เกสรเพศผู้ 5–7 อัน ยาว 2–4 ซม. รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยงหรือมีขน ผลแห้งแตกสีน้ำตาล รูปรีกว้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5–3 ซม. เปลือกหนา ก้านผลยาว 2–4 ซม. ส่วนมากมีเมล็ดเดียวที่เจริญ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 มม. ขั้วเมล็ดสีขาวพบที่อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงราย เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง หรือที่ลาดชันในป่าดิบเขา ความสูง 100–1300 เมตร มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ใบคั้นหยอดตาแก้อักเสบสกุล Aesculus L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Hippocastanaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Hippocastanoideae ร่วมกับสกุล Acer มีประมาณ 12 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก ชนิดที่นิยมปลูกเป็นไม้ข้างถนนโดยเฉพาะในยุโรป คือ A. hippocastanum L. หรือ Horse-chestnut ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินที่ใช้เรียกพืชคล้ายพวก oak ชนิดหนึ่ง
ชื่อสามัญ East Himalayan horse chestnut
ชื่ออื่น ขล่ำปอง (ภาคเหนือ); จอบือ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร); จอหว่อปื่อ (ละว้า-เชียงใหม่); ปวกน้ำ (ลำปาง); โปตานา (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); มะเกียน้ำ, มะเนียงน้ำ, หมากขล่ำปอง (ภาคเหนือ)
มะเนียงน้ำ: ใบประกอบรูปฝ่ามือ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบดอกมีปื้นเหลือง โคนสีส้มหรือแดง ผลแห้งแตก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)
Phengklai, C. (1981). Hippocastanaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 395–397.
Xia, N., N.J. Turland and P.A. Gadek. (2007). Hippocastanaceae. In Flora of China Vol. 12: 2–4.