สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะเดื่อ

มะเดื่อเตี้ย
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Ficus hirta Vahl

Moraceae

ดูที่ มะเดื่อหอม

มะเดื่อเถา
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Ficus pumila L.

Moraceae

ดูที่ ตีนตุ๊กแก

มะเดื่อไทย
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Ficus thailandica C.C.Berg & S.Gardner

Moraceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. มีขนสีเหลืองตามกิ่งอ่อน หูใบ เส้นแขนงใบ ก้านใบ และใบประดับ หูใบยาว 5–7 มม. ร่วงเร็ว ใบรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน ยาว 6–20 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมน ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 4–6 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันไดถี่ ก้านใบยาว 2.5–7 ซม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ตามกิ่งที่ใบหลุดร่วง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. ด้านนอกมีขน ก้านช่อยาว 1–2 ซม ก้านฐานดอกยาว 1–3 มม. ใบประดับที่โคนมี 3 ใบ ยาวประมาณ 1 มม. ช่องเปิดกว้างประมาณ 1.5 มม. ไม่มีขนด้านใน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ไทร, สกุล)

พืชถิ่นเดียวของไทย ขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามชายป่าดิบชื้นทางภาคใต้ที่คลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความสูงประมาณ 150 เมตร อยู่ภายใต้สกุลย่อย Ficus

มะเดื่อไทย: ปลายใบแหลมยาว figs ออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ตามกิ่งที่ใบหลุดร่วง ด้านนอกมีขน (ภาพ: Simon Gardner)

มะเดื่อขน
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Ficus hirta Vahl

Moraceae

ดูที่ มะเดื่อหอม

มะเดื่อขน
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Ficus semicordata Buch.-Ham. ex Sm.

Moraceae

ดูที่ เดื่อปล้องหิน

มะเดื่อปล้อง
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Ficus hispida L.f.

Moraceae

ดูที่ เดื่อปล้อง

มะเดื่อหอม
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Ficus hirta Vahl

Moraceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 ม. มีขนหยาบและขนหยาบแข็งตามกิ่ง หูใบ แผ่นใบทั้งสองด้าน ก้านใบ และฐานดอก หูใบยาว 0.5–2 ซม. ร่วงเร็วหรือช้า ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก แกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับ บางครั้งจักเป็น 3–7 พู ยาว 5–25 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลมหรือเว้าตื้น ขอบจักซี่ฟัน เส้นแขนงใบข้างละ 5–8 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 1.5–12 ซม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ เป็นคู่ตามซอกใบหรือใต้ซอกใบ ฐานดอกรูปกลม รูปรี หรือรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 ซม. ก้านสั้นหรือไร้ก้าน ใบประดับที่โคนมี 3 ใบ ยาว 2–3 มม. ช่องเปิดกว้าง 2–3.5 มม. ด้านในมีขนหนาแน่น รอบ ๆ มีขนกระจุกหรือใบประดับหลายอัน ยาวประมาณ 2 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ไทร, สกุล)

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซียและอินโดนีเซีย ขึ้นในป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร อยู่ภายใต้สกุลย่อย Ficus มีความผันแปรสูงทั้งรูปร่างและขนาดของใบ ฐานดอก และสิ่งปกคลุม ใบมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนัง

ชื่ออื่น   เดื่อขน (ภาคเหนือ); เดื่อหอมเล็ก, เดื่อหอมใหญ่ (ตราด); นมหมา (นครพนม); นอดน้ำ (ลำปาง); นอดหอม (จันทบุรี); มะเดื่อขน (นครราชสีมา); มะเดื่อเตี้ย (จันทบุรี); มะเดื่อหอม (ชลบุรี, ตรัง); เยื่อทง (เย้า-เชียงราย); หาด (เชียงใหม่, ภาคกลาง)

มะเดื่อหอม: มีขนหยาบและขนหยาบแข็งทั่วไป figs ออกเดี่ยว ๆ เป็นคู่ตามซอกใบหรือใต้ซอกใบ รูปกลม รูปรี หรือรูปทรงกระบอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

มะเดื่อหิน
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Ficus orthoneura H.Lév. & Vaniot

Moraceae

ไม้ต้น หรือกึ่งอาศัย สูงได้ถึง 10 ม. กิ่งเกลี้ยง หูใบที่ปลายยอดรูปใบหอก ยาวได้ถึง 10 ซม. สีชมพูหรือเขียวอ่อน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ร่วงเร็ว ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 7–24 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนมน กลม หรือเว้าตื้น ขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีนวล เส้นโคนใบสั้น เส้นแขนงใบข้างละ 7–15 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบร่างแหหรือเรียงขนาน ก้านใบยาว 1–9 ซม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ ใต้ใบ หรือตามเดือยสั้น ในกิ่งแก่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 ซม. ก้านยาว 1–7 มม. ใบประดับที่โคนมี 3 ใบ ยาว 1–2 มม. ช่องเปิดกว้าง 2–3 มม. ไม่มีขนด้านใน ใบประดับขนาดเล็ก กลีบรวมสีแดงเข้ม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ไทร, สกุล)

พบที่พม่า จีนตอนใต้ และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ตาก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ขึ้นตามหินปูนที่โล่งในป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1700 เมตร อยู่ภายใต้สกุลย่อย Urostigma

ชื่ออื่น   มะเดื่อหิน, >b>ไฮหิน (ขอนแก่น)

มะเดื่อหิน: หูใบที่ปลายยอดสีชมพู โคนใบเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมีนวล figs ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ ใต้ใบ หรือตามเดือยสั้น ๆ ในกิ่งแก่ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Berg, C.C. and S. Gardner. (2007). A new species Ficus subg. Ficus (Moraceae) from Thailand and two new records of Ficus species. Thai Forest Bulletin (Botany) 35: 31.

Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(4): 519, 530, 633.