ไม้เถา ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว 5–14 ซม. ปลายแหลมยาว ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 12 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบขนาดเล็ก เรียงซ้อนเหลื่อม ขอบมีขนครุย ติดทน ดอกรูปลำโพงสีเหลือง มีจุดสีแดงด้านใน ยาว 1.2–2 ซม. กลีบแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ปลายกลีบพับงอกลับ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 มม. ยื่นพ้นปากหลอด รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.8–1.2 ซม. ยอดเกสรแยก 2 แฉก แต่ละแฉกจัก 2 พู ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. มี 8–10 เมล็ดในแต่ละซีก รูปรี แบน ยาว 4–5 มม. กลางเมล็ดมีขน มีปีกรอบ จักชายครุย
พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ลาว เวียดนาม คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบเขา และป่าดิบชื้นที่เป็นหินปูน ความสูง 600–1500 เมตร น้ำยางมีสารแอลคาลอยด์หลายชนิดที่เป็นพิษ มีฤทธิ์กระตุ้นให้หลั่งน้ำลาย สับสน สั่นหรือชัก ทำให้หยุดหายใจได้ ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมมีสรรพคุณใช้รักษาโรคเนื้องอกในโพรงจมูก และเนื้องอกที่ผิวหนังบางชนิด
สกุล Gelsemium Juss. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Loganiaceae มี 3 ชนิด พบในอเมริกาเหนือ และเอเชีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาอิตาลี “gelsomino” ที่ใช้เรียกพืชพวกมะลิ
|
ชื่อพ้อง Medicia elegans Gardner & Champ.
|
|
ชื่อสามัญ Chinese Gelsemium
|
ชื่ออื่น ก๊กม่วน (Udon Thani); ซัวนาตั้ว (Maeo-Nan); มะเค็ด (Northeastern); มะลินรก, สามใบตาย (น่าน)
|
|
มะเค็ด: ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีเหลืองมีจุดสีแดงด้านใน เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลแห้งแตก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)
|
|