Index to botanical names
มะหวด
Sapindaceae
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น แยกเพศร่วมต้น ใบประกอบชั้นเดียวปลายคี่หรือปลายคู่ หรือมีใบย่อยใบเดียว บางครั้งมีหูใบเทียม โคนเบี้ยว ขอบใบเรียบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ปลายกิ่ง หรือลำต้น ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบวงนอก 2 กลีบขนาดเล็กกว่ากลีบวงใน กลีบดอก 4–5 กลีบ มีก้านกลีบสั้น ๆ ปลายมีสันเกล็ด 1–2 อัน จานฐานดอกจักเป็นพู เกสรเพศผู้ 4–18 อัน แต่ส่วนมากมี 8 อัน รังไข่มี 2–3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ผลผนังชั้นในแข็ง แห้งไม่แตก บางครั้งจักเป็นพู เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้มสกุล Lepisanthes มีประมาณ 24 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 4 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “lepis” เกล็ด และ “anthos” ดอก ตามลักษณะสันเกล็ดที่ปลายกลีบดอก
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. มีขนยาวหนาแน่นตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยง ใบประกอบปลายคู่ เรียงเวียน ใบย่อยส่วนมากมี 2–6 คู่ รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านใบสั้น ช่อดอกยาวได้ถึง 50 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้างเกือบกลม ยาว 1–2.5 มม. ดอกสีขาวอมเหลือง กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 2–5 มม. เกล็ดที่ปลายกลีบมีขนเครา ก้านชูอับเรณูยาว 1.5–5 มม. มีขนยาว รังไข่มี 3 ช่อง ผลจัก 3 พู รูปรีแคบ ยาว 0.8–1.3 ซม. ไร้ก้าน สีเขียว เปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดง สุกสีม่วงหรือดำ เมล็ดยาวประมาณ 1 ซม. ขั้วเมล็ดขนาดเล็กพบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค กระจายหนาแน่น ราก ใบ และผล มีสรรพคุณแก้ไข้ ผลสุกรสหวาน เป็นยาสมาน ใบอ่อนเป็นผักสด
ชื่อพ้อง Sapindus rubiginosus Roxb.
ชื่ออื่น กะซำ, กำจำ, กำซำ, ชันรุ, ซำ, นำซำ, มะจำ (ภาคใต้); มะหวด (ภาคกลาง); มะหวดบาท (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); มะหวดป่า (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะหวดลิง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); สีฮอกน้อย (ภาคเหนือ); หวดคา, หวดฆ่า (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงใต้); หวดลาว (ภาคเหนือ)
มะหวด: มีขนยาวหนาแน่นกระจาย ใบประกอบปลายคู่ ดอกสีขาวอมเหลือง ผลจัก 3 พู ไร้ก้าน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, มานพ ผู้พัฒน์)
van Welzen, P.C. (1999). Sapindaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 213–214.
Xia, N. and P.A. Gadek. (2007). Sapindaceae. In Flora of China Vol. 12: 12–13.