Index to botanical names
มะลิ
Oleaceae
ไม้เถา ไม้พุ่ม หรือรอเลื้อย ใบเดี่ยวหรือใบประกอบ เรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยมักมีข้อ ช่อดอกส่วนมากแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบเลี้ยงส่วนมากรูปถ้วย มี 5–9 กลีบ ติดทน ดอกส่วนมากรูปดอกเข็มสีขาว มี 5 หรือหลายกลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น แกนอับเรณูมีรยางค์สั้น ๆ รังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 หรือหลายเม็ด ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเป็นตุ่มหรือจัก 2 พู ผลสดติดเป็นคู่หรือฝ่อเหลือผลเดียว สุกสีดำหรือม่วงอมดำ มีหนึ่งหรือหลายเมล็ดสกุล Jasminum มีประมาณ 200 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียและแอฟริกาเขตร้อน พบน้อยในเขตอบอุ่น ในไทยเป็นพืชพื้นเมืองประมาณ 32 ชนิด และเป็นไม้ต่างถิ่นกว่า 10 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “yasmin” ที่ใช้เรียกมะลิ
ไม้พุ่มรอเลื้อย สูงได้ถึง 3 ม. กิ่งมีขนประปราย ใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปไข่กลับกว้างเกือบกลม ยาว 4–12.5 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว 2–6 มม. มีขนสั้นนุ่ม โคนและปลายแหลม เส้นแขนงใบข้างละ 4–6 เส้น เส้นโคนใบไม่ชัดเจน ช่อดอกออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง มี 1–5 ดอก ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาว 4–8 มม. ก้านดอกยาว 0.3–2 ซม. กลีบเลี้ยง 8–9 กลีบ รูปแถบ ยาว 5–7 มม. หลอดกลีบดอกสั้น กลีบดอกมีได้ถึง 16 กลีบ รูปรีหรือเกือบกลม ยาว 5–9 มม. ผลรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. สุกสีม่วงดำเข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ดอกมีกลิ่นหอมแรง ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อสามัญ Arabian jasmine มีหลากสายพันธุ์ ทั้งดอกซ้อน ดอกเรียงเป็นชั้นหลายแบบ หรือรูปคล้ายมงกุฏ ส่วนใหญ่ไม่ติดผล เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติของไทย และเป็นดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์
ชื่อพ้อง Nyctanthes sambac L.
ชื่อสามัญ Arabian jasmine, Sampaguita
ชื่ออื่น ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่); มะลิ (ทั่วไป); มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่); มะลิซ้อน (ภาคกลาง); มะลิป้อม (ภาคเหนือ); มะลิลา (ท่วไป); มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน)
มะลิ: ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับกว้าง กลีบเลี้ยง 8–9 กลีบ รูปแถบ กลีบดอกเป็นสองเท่าของกลีบเลี้ยง หรือกลีบดอกซ้อน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
ไม้เถา มีขนสั้นนุ่มหรือขนยาวตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–11 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนรูปลิ่มกว้างหรือกลม ก้านใบยาว 0.6–1.6 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น ช่อดอกออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่งหรือกิ่งข้าง ดอกจำนวนมาก ใบประดับรูปแถบ ยาวได้ถึง 1 ซม. ก้านดอกไร้ก้านหรือยาวได้ถึง 3 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 มม. กลีบรูปแถบ ยาว 1–2 มม. พับงอ หลอดกลีบดอกยาว 0.4–1 ซม. กลีบดอก 7–8 กลีบ รูปใบหอก ยาว 7–9 ผลรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 1 ซม.พบที่พม่า คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ในไทยพบทางภาคเหนือที่แม่ฮ่องสอน ภาคกลางที่สระบุรี และกระจายทั่วไปทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าหรือป่าโปร่ง ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร
ชื่ออื่น กรงจัน (ภาคเหนือ); มะลิเขี้ยวงู (ภาคใต้); มะลิป่า (นครราชสีมา)
มะลิเขี้ยวงู: ช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง หลอดกลีบเลี้ยงสั้น กลีบรูปแถบยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ พับงอกลับ กลีบดอก 7–8 กลีบ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
ไม้เถาหรือไม้พุ่มทอดเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนละเอียด ใบรูปไข่ถึงรูปใบหอก ยาว 1.3–5.5 ซม. ปลายเรียวแคบ มน หรือแหลมสั้น ๆ ปลายมีติ่ง โคนกลมหรือเว้าตื้น เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น โค้งเป็นเส้นขอบใน เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. มีขนละเอียด ช่อดอกมีดอกเดียว ใบประดับ 1 คู่ เป็นติ่งแหลมอ่อน ๆ ยาวประมาณ 1 มม. ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยงรูปลิ่มแคบ ยาว 2–5 มม. มีขนละเอียดประปราย หลอดกลีบดอกยาว 1.7–3 ซม. กลีบดอก 6–8 กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 0.9–1.7 ซม. ผลรูปรีเกือบกลมพบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา สงขลา ขึ้นตามเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ความสูง 100–250 เมตร
มะลิช้าง: เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ช่อดอกมีดอกเดียว กลีบดอก 6–8 กลีบ (ภาพ: นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน)
ไม้เถา เกลี้ยง ใบเดี่ยวหรือใบประกอบมี 3 ใบย่อย ใบย่อยใบปลายรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 7–13 ซม. ใบข้างขนาดเล็ก ยาว 3–6.5 ซม. ปลายเรียวแหลมยาว โคนกลม ตัด หรือเว้าตื้น ก้านใบยาว 1–2 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 2 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น มีตุ่มใบเป็นขน ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ก้านช่อสั้นกว่าใบ ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 3–7 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.6–0.8 มม. หลอดกลีบดอกสีชมพู ยาว 0.7–1 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 5–6 มม. อับเรณูยาวประมาณ 4 มม. ผลรูปรีกว้าง จักเป็นพู ยาวประมาณ 8 มม.พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยอินทนนท์ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1900–2500 เมตร ดอกมีกลิ่นหอม ส่วน subsp. dispermum มีใบย่อย 3–7 ใบ ใบย่อยขนาดเล็ก พบที่อินเดีย ภูฏาน และเนปาล
ชื่ออื่น เครือเกตถวา, มะลิดอย (เชียงใหม่)
มะลิดอย: ใบเดี่ยวหรือมี 3 ใบย่อย ช่อดอกสั้นกว่าใบ กลีบเลี้ยงสั้นมาก หลอดกลีบดอกสีชมพู กลีบดอก 5 กลีบ ผลจักเป็นพู (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Gelsemiaceae
Apocynaceae
Chang, M.C., L.C. Chiu, Z. Wei and P.S. Green. (1996). Oleaceae. In Flora of China Vol. 15: 318.
Green, P.S. (2000). Oleaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(2): 306–340.