Index to botanical names
มะรุม
Moringaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบประกอบ 3 ชั้น เรียงเวียน ยาวได้ถึง 60 ซม. มีต่อมที่โคนก้านใบและแผ่นใบ ต่อมมีก้าน ใบย่อยมี 4–6 คู่ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1–2 ซม. ใบอ่อนมีขนประปราย ปลายกลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือรูปลิ่ม ก้านใบสั้น ช่อดอกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกเทียมยาว 0.7–1.5 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกขนาดเล็ก พับงอกลับ ดอกสีครีมคล้ายรูปดอกถั่ว มี 5 กลีบ รูปใบพาย ยาว 1–2 ซม. กลีบหลังตั้งขึ้น 4 กลีบล่างพับงอกลับ เกสรเพศผู้ 5 อัน เป็นหมัน 5 อัน เรียงคนละวง โคนมีขน รังไข่มีช่องเดียว มีก้าน พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ 3 แนว มีขน ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ยอดเกสรเป็นตุ่มขนาดเล็ก ผลแห้งแตก มี 3 ซีก รูปทรงกระบอกเป็นสัน ยาวได้ถึง 50 ซม. เมล็ดกลมแกมรูปสามเหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1.5 ซม.มีปีกบาง กว้าง 0.5–1 ซม.มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และปากีสถาน ปลูกทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ผลและใบอ่อนใช้ปรุงอาหาร เมล็ดให้น้ำมัน ใช้จุดไฟตะเกียง ใช้ในอุตสาหกรรมความงามและน้ำหอม ในอดีตเคยใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในนาฬิกา เปลือกและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะสกุล Moringa Adans. เป็นสกุลเดียวของวงศ์ มี 13 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ และเอเชีย ในไทยเป็นไม้ต่างถิ่นชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาทมิฬหรือมาลายาลัม “murunga” หรือภาษาสันสกฤต “marungi” ที่ใช้เรียกมะรุม ในอินเดีย ในแอฟริกาใช้เมล็ดจากพืชสกุลนี้หลายชนิดฆ่าเชื้อแบคทีเรียในน้ำก่อนบริโภค
ชื่อสามัญ Drumstick tree, Horseradish tree
ชื่ออื่น กาแน้งเดิง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ผักเนื้อไก่ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ผักอีฮึม, ผักอีฮุม, มะค้อนก้อม (ภาคเหนือ); มะรุม (ภาคกลาง, ภาคใต้); เส่ช่อยะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
มะรุม: ใบประกอบ 3 ชั้น ดอกคล้ายรูปดอกถั่ว กลีบดอกกลีบหลังตั้งขึ้น 4 กลีบพับงอกลับ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Lu, L. and M. Olson. (2001). Moringaceae. In Flora of China Vol. 8: 196.
Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.