Index to botanical names
มะระ
Cucurbitaceae
ไม้เถาล้มลุก ยาวได้ถึง 4 ม. มีขนสั้นนุ่ม แยกเพศร่วมต้น ใบรูปฝ่ามือ 5–9 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5–10 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ปลายเป็นติ่ง แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาว 1.5–5 ซม. ไม่มีต่อม ช่อดอกมีดอกเดียว ใบประดับเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1.5 ซม. ติดใต้กึ่งกลางก้านช่อ ช่อดอกเพศผู้ยาว 0.5–5 ซม. ก้านดอกยาว 2–6 ซม. ฐานดอกยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่แคบ ๆ ยาว 4–6 มม. กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 1–2 ซม. ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูติดกัน ดอกเพศเมียก้านดอกยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่มีปุ่ม ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลรูปรี ยาว 2–11 ซม. ปลายแหลมยาว ผิวเป็นตุ่มแหลม มีสันตามแนวยาว 8–10 สัน แตกเป็น 3 ส่วน ก้านผลยาว 3.5–15 ซม. เมล็ดแบน ยาว 0.8–1.5 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฟักข้าว, สกุล)พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ขึ้นตามชายป่าหรือเขาหินปูน ผลอ่อนและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด แก้โรคตับอักเสบ ม้ามอักเสบ และปวดเข่า หรือเป็นยาระบายอ่อน ๆ ส่วน forma charantia หรือมะระ ผลเรียวยาว ผิวเป็นปุ่มทู่
ชื่ออื่น ผักเหย (สงขลา); ผักไห (นครศรีธรรมราช); มะร้อยรู (ภาคกลาง, ภาคใต้); มะระขี้นก (ภาคกลาง); มะห่อย, มะไห่ (ภาคเหนือ); สุพะซู, สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
มะระขี้นก: forma abbreviata ใบแฉกรูปฝ่ามือ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ช่อดอกมีดอกเดียว ดอกเพศผู้ก้านดอกสั้น ผลมีตุ่มแหลม เป็นสันตามแนวยาว แตกเป็น 3 ส่วน; มะระ: forma charantia (ภาพล่าง) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
de Wilde, W.J.J.O. and B.E.E. Duyfjes. (2008). Cucurbitaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(4): 464–467.