สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะยมป่า

มะยมป่า
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Ailanthus triphysa (Dennst.) Alston

Simaroubaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 45 ม. แยกเพศต่างต้น ใบประกอบปลายคี่ มีใบย่อย 6–30 คู่ รูปไข่ แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 5–26 ซม. ปลายแหลมยาว ปลายมีต่อมเป็นขนคล้ายปลายมนหรือเว้าตื้น โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยยาว 5–7 มม. ใบแห้งสีแดง ช่อดอกแยกแขนงยาว 20–60 ซม. มีขนประปราย ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ด้านนอกมีขนยาว กลีบดอก 5 กลีบ เรียงจรดกันในตาดอก กลีบรูปไข่ ยาว 3–5 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดใต้จานฐานดอก พับงอในตาดอก ก้านชูอับเรณูยาว 3–6 มม. โคนมีขนยาว ลดรูปในดอกเพศเมีย ส่วนมากมี 3 คาร์เพล โคนมักเชื่อมติดกัน เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียแยกหรือเชื่อมติดกันที่โคน ยอดเกสรจัก 3 พู รูปโล่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. มีประมาณ 3 ผลย่อย มีปีกเดียว ปลายมน ยาว 4.5–8 ซม. แต่ละผลย่อยมีเมล็ดเดียว แบน

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม คาบสมุทรมลายู สุมาตรา นิวกินี และออสเตรเลีย ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร น้ำยางหรือชันมีกลิ่นหอมใช้ทำธูป ไล่แมลง

สกุล Ailanthus Desf. มีประมาณ 10 ชนิด พบในเอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาพื้นเมืองหมู่เกาะโมลุกกะ ของอินโดนีเซีย หมายถึงสูงเสียดฟ้า ตามลักษณะวิสัย

ชื่อพ้อง  Adenanthera triphysa Dennst.

ชื่อสามัญ  White palle

ชื่ออื่น   กอมขน (เชียงใหม่); ดีงูต้น, แตงกวา (อุตรดิตถ์); มะแง่ม (นครสวรรค์); มะยมป่า (ทั่วไป); มะยมหอม (ชลบุรี); ยมโดย (ภาคกลาง); ยมป่า (ยะลา); ยมผา (ภาคเหนือ); ยมหยวก (ตาก, อุทัยธานี); ยมหางไก่ (ตาก); หมักกอม (เชียงใหม่); หมูสี, โอโลด (ลำปาง, แพร่)

มะยมป่า: ใบประกอบปลายคี่ ใบแห้งสีแดง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ผลมี 3 ผลย่อย มีปีก ปลายมน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

มะยมป่า
วันที่ 30 มกราคม 2560

Breynia androgyna (L.) Chakrab. & N.P.Balakr.

Phyllanthaceae

ดูที่ ผักหวานบ้าน

มะยมป่า
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Acronychia pedunculata (L.) Miq.

Rutaceae

ดูที่ กะอวม



เอกสารอ้างอิง

Nooteboom, H.P. (1981). Simaroubaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 439–441.