สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะยม

มะยม
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Phyllanthus acidus (L.) Skeels

Phyllanthaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 2.5–10 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนมน ช่อดอกมีดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก 2–6 ดอกมักออกที่โคนช่อตามซอกใบหรือตามกิ่ง ช่อดอกเพศเมียส่วนมากออกตามกิ่ง ก้านดอกยาว 0.5–3 มม. ขยายในผลยาว 2–5 มม. กลีบเลี้ยงสีแดง รูปไข่ ยาว 1–2 มม. ดอกเพศผู้มี 4 กลีบ แคบกว่าในดอกเพศเมียเล็กน้อย จานฐานดอกเป็นต่อม 4 ต่อม ดอกเพศเมียมี 4–6 กลีบ จานฐานดอกเป็นต่อม 4–6 ต่อม เกสรเพศผู้ 4 อัน แยกกัน ยาวประมาณ 5 มม. บางครั้งมี 1–2 อันในดอกเพศเมีย ลดรูป รังไข่จัก 6–8 พู ก้านเกสรเพศเมีย 3–4 อัน ยาว 1–6 มม. ผลจัก 6–8 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.7 ซม. เมล็ดกลมแกมรูปสามเหลี่ยมมน ยาว 5–8 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผักหวานดง, สกุล)

อาจมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ปลูกเป็นไม้ผลหรือไม้มงคลทั่วไปในเขตร้อน ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อพ้อง  Averrhoa acida L.

ชื่อสามัญ  Otaheite gooseberry, Star gooseberry

มะยม: ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ก้านเกสรเพศเมีย 3–4 อัน รังไข่และผลจักเป็นพู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

มะยมใบแข็ง
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Phyllanthus ridleyanus Airy Shaw

Phyllanthaceae

ไม้พุ่มรอเลื้อย ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 6–17 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนเบี้ยว ขอบม้วนนูน ก้านใบยาว 3–4 มม. ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเพศผู้มีประมาณ 10 ดอก ดอกเพศเมียมี 2–3 ดอก ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 5–6 มม. ดอกเพศเมียก้านยาวประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยง 6 กลีบ ในดอกเพศผู้ยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกเพศเมียยาวประมาณ 5 มม. ขอบจักชายครุย สันกลีบด้านนอกมีติ่งขนแหลม 3 กลีบปลายเรียวแหลม 3 กลีบปลายเรียวรูปเส้นด้ายยาว 5–6 มม. จานฐานดอกมี 6 ต่อม รูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 0.2 มม. ยอดเกสรยาวประมาณ 0.1 มม. ผลแห้งแตก จัก 3 พู ตื้น ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ผักหวานดง, สกุล)

พบที่คาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ที่ระนอง สุราษฎร์ธานี ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร คล้ายกับชนิด P. lingulatus Beille ซึ่งเกสรเพศผู้มี 6 อัน และรังไข่เกลี้ยง พบเฉพาะที่ลาว และภาคเหนือของไทยที่เชียงใหม่

มะยมใบแข็ง: ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเพศผู้จำนวนมาก กลีบเลี้ยงปลายเรียวแหลมรูปเส้นด้าย ผลจัก 3 พู ตื้น ๆ ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

มะยมฉัตร
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Phyllanthus pulchroides Beille

Phyllanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1 ม. มีขุยสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง และก้านใบ ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 12–26 ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบมีสันนูน แผ่นใบเกลี้ยง ก้านใบสั้นมาก ช่อดอกออกป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเพศผู้มี 2–6 ดอก ออกช่วงโคน ดอกเพศเมียมีดอกเดียว ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 5–7 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ ยาว 1–2.5 มม. ขอบจักชายครุย จานฐานดอกเป็นต่อม 4 ต่อม เกสรเพศผู้ 4 อัน เชื่อมติดกันที่โคน ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 1–2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 3 มม. ขอบจักชายครุย ขยายในผล จานฐานดอกเป็นต่อม 5 ต่อม ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรยาวประมาณ 0.5 มม. ผลแห้งแตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 ซม. มีขนยาวหนาแน่น เมล็ดรูปสามเหลี่ยมมน ยาว 2–3.5 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผักหวานดง, สกุล)

พบที่เวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภูกระดึง ภูหลวง จังหวัดเลย และภาคกลางที่เขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1100–1500 เมตร

มะยมฉัตร: มีขุยสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง ขอบกลีบเลี้ยงจักชายครุย ก้านผลยาว ผลมีขนยาวหนาแน่น (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Chantaranothai, P. (2007). Euphorbiaceae (Phyllanthus). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 429, 477–479, 498–499.