สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะพอก

มะพอก
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Parinari anamensis Hance

Chrysobalanaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก หูใบรูปใบหอก ยาวได้ถึง 1 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 6–15 ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่มกว้างหรือกลม แผ่นใบด้านล่างมีขนคล้ายขนแกะหนาแน่น ก้านใบยาว 0.8–1 ซม. ใต้จุดกึ่งกลางมีต่อม 2 ต่อม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้นมาก หลอดกลีบเลี้ยงยาว 2–2.5 มม. มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกสีขาว กลีบดอกยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 8–10 อัน ยาวไม่เท่ากัน รังไข่แนบติดหลอดกลีบเลี้ยงด้านเดียว มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว มีขนยาวหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือกลม ยาว 3–4 ซม. มีสะเก็ดสีเทาหรือสีน้ำตาลหนาแน่น

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร ผลและเมล็ดกินได้ เมล็ดให้น้ำมัน

สกุล Parinari Aubl. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Rosaceae รวมถึงสกุล Chrysobalanus, Parastemon และ Maranthes (ที่เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Rosaceae) มีประมาณ 45 ชนิด พบในอเมริกากลางและใต้ แอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นชื่อที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้ในแถบอเมริกาใต้

ชื่ออื่น   กระท้อนลอก (ตราด); จัด, จั๊ด (ลำปาง); ตะเลาะ (ส่วย-สุรินทร์); ตะโลก (เขมร-สุรินทร์); ท่าลอก (นครราชสีมา, พิษณุโลก, ปราจีนบุรี); ประดงไฟ, ประดงเลือด (ราชบุรี); พอก (อุบลราชธานี); มะคลอก (สุโขทัย, อุตรดิตถ์); มะพอก (ราชบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะมื่อ, หมักมอก, หมักมื่อ (ภาคเหนือ); หมากรอก (ประจวบคีรีขันธ์); เหลอะ (ส่วย-สุรินทร์)

มะพอก: เปลือกแแตกเป็นร่องลึก โคนใบรูปลิ่มกว้างหรือกลม หูใบรูปใบหอก ร่วงเร็ว แผ่นใบด้านล่างมีขนคล้ายขนแกะหนาแน่น ผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลหนาแน่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Vidal, J.E. (1970). Rosaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 73–74.