Index to botanical names
มะค่าแต้
Fabaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง และช่อดอก ใบประกอบปลายคู่ ก้านใบประกอบยาว 2–4 ซม. ใบย่อยมี 3–4 คู่ รูปรี ยาว 6–15 ซม. ปลายกลม เว้าตื้น ๆ แผ่นใบด้านบนมีขนสาก มักมีต่อมใกล้ขอบใบด้านล่างด้านหนึ่ง ก้านใบย่อยยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 10–25 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 3–6 มม. ติดทน ใบประดับย่อยขนาดเล็กติดใต้กึ่งกลางก้านดอก ก้านดอกยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปเรือ 1 กลีบ รูปใบหอก 3 กลีบ ยาวประมาณ 7 มม. มีตุ่มกระจาย ปลายกลีบมีหนามเล็ก ๆ กลีบดอกมีกลีบเดียว สีเหลืองอมแดง ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ 10 อัน 9 อันเชื่อมติดกันที่โคนเป็นแผ่น 2 อันด้านบนยาว 1.5–2 ซม. 7 อันขนาดเล็ก รังไข่มีก้านสั้น มีขนหยาบและหนามเล็ก ๆ ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเป็นตุ่ม ฝักแห้งแตก แบนคล้ายรูปไข่ ยาว 4.5–10 ซม. ปลายมีจะงอย ยาว 5–7 มม. ผิวมีหนามกระจาย มี 1–3 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม. ขั้วเมล็ดมีเยื่อหุ้มหนาพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าชายหาด ความสูงไม่เกิน 300 เมตร แยกเป็น var. maritima (Pierre) K.Larsen & S.S.Larsen หรือมะค่าลิง ฝักมีหนามขนาดเล็กเป็นตุ่มประปรายหรือไม่มี การกระจายพันธุ์เช่นเดียวกับมะค่าแต้สกุล Sindora Miq. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Caesalpinioideae เผ่า Detarieae มีประมาณ 20 ชนิด พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะภูมิภาคมาเลเซีย และพบในแอฟริกา 1 ชนิด ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิดพบเฉพาะทางภาคใต้ คือ กลิ้ง S. coriacea (Baker) Prain และมะคะ S. echinocalyx Prain ชื่อสกุลเป็นภาษามาเลย์ “sindor” ที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้หลายชนิด
ชื่อพ้อง Sindora cochinchinensis Baill.
ชื่ออื่น กรอก๊อส (เขมร-พระตะบอง); กอกก้อ (ชาวบน-นครราชสีมา); ก่อเก๊าะ, ก้าเกาะ (เขมร-สุรินทร์); แต้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะค่าแต้ (ทั่วไป); มะค่าหนาม (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); มะค่าหยุม (ภาคเหนือ)
มะค่าแต้: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ใบประดับติดทน ปลายกลีบเลี้ยงมีหนามเล็ก ๆ กลีบดอกมีกลีบเดียว ฝักแห้งแตก มีหนามหรือเรียบ (var. maritima) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 98–102.