ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. แยกเพศร่วมต้น ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ ลอกเป็นแผ่นบาง ใบเรียง 2 แถวคล้ายซี่หวี เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเรียงตรงข้าม รูปใบหอก หรือรูปแถบโค้งเล็กน้อย ยาว 1.5–5 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนมน เส้นกลางใบนูนทั้งสองด้าน แผ่นใบด้านล่างมีนวล ปากใบเรียงเป็นแถบ 12–14 แถว โคนเพศผู้ออกตามกิ่งเป็นช่อกระจุกแน่น มี 6–8 โคน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. มีปุยขาวปกคลุม ก้านช่อสั้น โคนเพศเมียออกตามซอกเกล็ดตาที่ยอด 1–8 โคน ก้านยาว 0.6–1 ซม. เกล็ดประดับเรียงตรงข้ามสลับฉากเป็นคู่ แต่ละเกล็ดมีออวุล 2 เม็ด ส่วนมากเจริญเพียงเม็ดเดียว เมล็ดคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง เกิดจากเนื้อเยื่อหุ้มจนมิด รูปรีหรือกลม ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีติ่งที่ปลาย สุกสีแดงฉ่ำน้ำ
พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000–1800 เมตร
สกุล Cephalotaxus Siebold & Zucc. ex Endl. เป็นพืชเมล็ดเปลือย มีประมาณ 12 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียตะวันออก ในไทยมีชนิดเดียว การจัดจำแนกยังมีความสับสนระหว่างภายใต้วงศ์ Cephalotaxaceae หรือ Taxaceae แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ยอมรับอยู่ภายใต้วงศ์ Taxaceae แม้ว่าเมล็ดพืชในวงศ์ Taxaceae ส่วนมากมีขนาดเล็กและมีเนื้อเยื่อหุ้มบางส่วน ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kephale” หัว และสกุล Taxus หมายถึงต้นไม้ที่คล้ายพวกต้นสนในสกุล Taxus
|
ชื่อพ้อง Cephalotaxus griffithii Hook.f.
|
|
ชื่อสามัญ Assam plum yew, Mann’s yew plum
|
ชื่ออื่น ดอยสะเด็น (เชียงใหม่); พญามะขามป้อม (เลย); มะขามป้อมดง (เชียงราย); สะวาลา, เส่วาลา (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); หิ้ง (เลย)
|
|
มะขามป้อมดง: แผ่นใบด้านล่างมีนวล โคนเพศผู้ออกตามกิ่งเป็นช่อกระจุกแน่น ใบเรียงตรงข้าม เมล็ดมีเยื่อหุ้มจนมิด สุกสีแดงฉ่ำน้ำ (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ)
|
|