สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะกัก

มะกัก
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Spondias bipinnata Airy Shaw & Forman

Anacardiaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 25 ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบประกอบ 2 ชั้น เรียงเวียน ใบประกอบย่อยมี 3–5 คู่ คู่ล่างมักลดรูปเป็นใบเดี่ยว ใบย่อยมี 3–5 คู่ ใบปลายขนาดใหญ่กว่าใบด้านข้าง รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–8.5 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนกลม เบี้ยว แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยใบข้างสั้นมาก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวเท่า ๆ หรือยาวกว่าใบประกอบ ดอกจำนวนมากสีขาว ใบประดับรูปแถบขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 4–6 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. มีขนประปราย กลีบดอก 4 กลีบ เรียงจรดกัน รูปรี ยาวประมาณ 4 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนก้านชูอับเรณูกว้าง จานฐานดอกจักเป็นพูตื้น ๆ 10 พู รังไข่มี 5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 4–4.5 ซม. สุกสีเหลือง ก้านหนา

พืชถิ่นเดียวของไทย พบตามเขาหินปูนที่แห้งแล้งเตี้ย ความสูงไม่เกิน 300 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้

สกุล Spondias L. มีประมาณ 25 ชนิด พบในอเมริกาและเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “spodias” ที่ใช้เรียกพืชพวกมะกอกป่า

ชื่ออื่น   กอกกัก (นครสวรรค์); มะกอกป่า (กาญจนบุรี, นครราชสีมา); มะกัก, หมักกัก (ราชบุรี, สระบุรี)

มะกัก: ใบประกอบ 2 ชั้น ปลายใบแหลมยาว โคนกลม เบี้ยว ก้านใบย่อยใบข้างสั้นมาก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ก้านผลหนา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

มะกักป่า
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schrebera swietenioides Roxb.

Oleaceae

ดูที่ มะกอกดอน



เอกสารอ้างอิง

Chayamarit, K. (2010). Anacardiaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 323.