ไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 30 ม. เปลือกแตกเป็นสะเก็ด กิ่งมีช่องอากาศ หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว 0.5–1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ใบประกอบมีใบย่อย 2–5 คู่ ใบย่อยรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 4–18 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขน ก้านใบยาว 1–2 ซม. ใบปลายยาว 3–4 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้ยาวกว่าช่อดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยงยาว 3–5 มม. ดอกสีครีม กลีบรูปคล้ายเรือ ยาว 0.7–1.2 ซม. เกสรเพศผู้ติดที่โคนจานฐานดอก โคนเชื่อมติดกัน จานฐานดอกสีแดงอมส้ม จักเป็นพูหรือเรียบ รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขนยาว ผลรูปรี ยาว 3–4.5 ซม. หน้าตัดรูปสามเหลี่ยมมน ผนังหนา ไพรีนรูปรี ยาว 2–2.5 ซม.
พบที่จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร มีความผันแปรสูงทั้งรูปร่างและขนาดของส่วนต่าง ๆ และสิ่งปกคลุม
|
ชื่อพ้อง Canarium kerrii Craib, C. venosum Craib
|
|
|
ชื่ออื่น กอกกัน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); กอกเลื่อม (ปราจีนบุรี); เกิ้ม (ภาคเหนือ); ซาลัก (เขมร); มะกอกเกลื้อน (ราชบุรี); มะกอกเลือด (ภาคใต้); มะกอกเลื่อม (ภาคกลาง); มะเกิ้ม (ภาคเหนือ); มะฉิม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะเลื่อม, มักเหลี่ยม (จันทบุรี); โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี)
|
|
มะกอกเกลื้อน: เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ใบประกอบปลายคี่ ขอบจักฟันเลื่อย หูใบรูปลิ่มแคบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคิด เรืองเรื่อ, ปรีชา การะเกตุ)
|
|