สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะกอกดอน

มะกอกดอน
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Schrebera swietenioides Roxb.

Oleaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบประกอบปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบประกอบย่อยมี 2–3 คู่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 7–15 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ใบปลายยาวได้ถึง 4 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 6–15 ซม. ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 1–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 2–3 มม. จักไม่ชัดเจน ดอกสีเขียวรูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอกยาว 0.8–1.1 ซม. มี 6–7 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 4–6 มม. ด้านบนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดที่คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.5–1 ซม. ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งแตก รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 5–6 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–3.5 ซม. ผิวมีตุ่ม เมล็ดมีปีก รูปไข่ แบน ยาว 3–4 ซม. รวมปีก

พบที่อินเดีย พม่า กัมพูชา และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร ราก เปลือก และใบมีรสขม มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร แก้ท้องเสีย และใช้พอกแผลทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง

สกุล Schrebera Roxb. มีประมาณ 8 ชนิด พบทั้งในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา และเอเชีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Johann Christian Daniel von Schreber (1739–1810)

ชื่ออื่น   กอกดอน, มะกอกโคก, มะกอกดอน, มะกอกเผือก (ภาคเหนือ); มะกักป่า (ราชบุรี); หีผี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

มะกอกดอน: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีเขียว แผ่นกลีบดอกด้านบนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ผลแห้งแตก ผิวมีตุ่มกระจาย (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Green, P.S. (2000). Oleaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(2): 298–299.