สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะกอกขน

มะกอกขน
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Canarium littorale Blume

Burseraceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามกิ่งอ่อน หูใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก หูใบรูปกลม ขนาดประมาณ 1.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบประกอบมีใบย่อย 2–5 คู่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–12 ซม. ปลายแหลม มีติ่ง โคนรูปลิ่มกว้างหรือกลม เบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 3–6 มม. ใบปลายยาว 3–3.5 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้นหนา กลีบเลี้ยงรูปรี ยาวได้ถึง 1 ซม. กลีบดอกรูปรี ยาว 8–9 มม. เกสรเพศผู้ติดบนจานฐานดอก รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขนยาว ผลรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4–6.5 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะกอกเกลื้อน, สกุล)

พบที่คาบสมุทรมลายู ชวา และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร เป็นชนิดที่พบหนาแน่นที่สุดของสกุล Canarium ในคาบสมุทรมลายู

ชื่ออื่น   กือลามานี (มาเลย์-นราธิวาส); มะกอกขน (ภาคใต้); เลื่อมเขา (ภูเก็ต); เสียดมอด (ภาคใต้)

มะกอกขน: ส่วนต่าง ๆ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง หูใบรูปกลม กลีบเลี้ยงขยายในผล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Pooma, R. (1999). A preliminary account of Burseraceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 27: 65.