ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 ม. กิ่งมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประกอบปลายคี่ ยาว 7–11 ซม. หูใบรูปลิ่มแคบ มีขน ใบย่อยมี 3–7 คู่ รูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ยาว 3–5 ซม. ใบปลายยาวกว่านี้ ปลายแหลม โคนรูปลิ่มกว้าง แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกแบบช่อกระจะออกด้านข้างเรียงสลับกับใบ ยาว 5–20 ซม. ก้านดอกยาว 3–6 มม. ใบประดับคล้ายขนแข็ง ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงรูปถ้วยเบี้ยว ยาว 8–9 มม. จักตื้น 5 จัก ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวหรือครีม กลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายมน โคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบ กลีบปีกยาวเท่า ๆ กลีบกลาง เว้าเป็นติ่ง ก้านกลีบยาว กลีบคู่ล่างคล้ายกลีบปีกแต่สั้นกว่า เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันที่โคน รังไข่มีขนสีน้ำตาลแดง ผลเป็นฝักคล้ายลูกปัด ยาว 4–10 ซม. ปลายเป็นจะงอย มี 2–4 เมล็ด รูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 8 มม. เมล็ดแก่สีแดง
พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทยที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า เซซาโว
สกุล Sophora L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Sophoreae มีประมาณ 70 ชนิด พบทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยมีประมาณ 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “sufayra” ที่ Linnaeus นำมาใช้ตั้งชื่อชนิด S. alopecuroides L.
|