สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มะกล่ำ

มะกล่ำเครือ
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus precatorius L.

Fabaceae

ดูที่ มะกล่ำตาหนู

มะกล่ำเผือก
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus pulchellus Wall. ex Thwaites

Fabaceae

ไม้เถา หูใบรูปใบหอก ยาว 5–7 มม. ใบประกอบมีใบย่อย 4–7 คู่ ก้านใบยาว 2–3 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 3.2–4.5 ซม. ปลายมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนเบี้ยวหรือรูปหัวใจ แผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาวประปราย ก้านใบยาว 1–1.5 มม. มีขนหนาแน่น ช่อดอกยาว 4–9 ซม. ดอกรูปเคียว สีชมพูอมม่วง กลีบกลางสีขาว รูปรี ยาว 1.2–1.3 ซม. ปลายเว้าตื้น กลีบปีกและกลีบคู่ล่างสั้นกว่ากลีบปาก มีรยางค์เป็นติ่ง โคนเรียวสอบ คอดคล้ายก้านกลีบ รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขนหนาแน่น ฝักรูปขอบขนาน ยาว 4–8 ซม. มี 4–12 เมล็ด รูปรี แบนเล็กน้อย สีน้ำตาลดำ

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ความสูงระดับต่ำ ๆ แยกเป็น subsp. cantoniensis (Hance) Verdc. และ subsp. mollis (Hance) Verdc. ตามสิ่งปกคลุม ขนาดใบ โคนใบ และความยาวของฝัก

ชื่อสามัญ  Liquorice root

ชื่ออื่น   คอกิ่ว (จันทบุรี); แปบฝาง, มะกล่ำตาหนู, มะกล่ำเผือก (เชียงใหม่); มะขามป่า (จันทบุรี); มะขามย่าน (ตรัง)

มะกล่ำเผือก: ใบประกอบมีใบย่อย 4–7 คู่ กลีบดอกสีชมพูอมม่วง กลีบกลางสีขาว ปลายเว้า อับเรณูสีเหลือง ฝักแบน ปลายมีจะงอย (ภาพ: รัมภ์รดา มีบุญญา)

มะกล่ำแดง
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus precatorius L.

Fabaceae

ดูที่ มะกล่ำตาหนู

มะกล่ำตาหนู  สกุล
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus Adans.

Fabaceae

ไม้พุ่มหรือไม้เถา ใบประกอบปลายคู่ เรียงเวียน ปลายแกนใบมักมีขนแข็ง 1 อัน ใบย่อยเรียงตรงข้าม ไม่มีหูใบย่อย ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกออกเป็นกระจุกแน่นเป็นช่อสั้น ๆ ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงรูปถ้วย จักซี่ฟันตื้น ๆ ดอกรูปดอกถั่ว กลีบกลางก้านกลีบแนบติดแผ่นเกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้ 9 อัน เชื่อมติดกันเป็นแผ่น แยกกันช่วงปลาย ไม่มีอันตรงข้ามกลีบกลาง (vexillary stamen) อับเรณูติดด้านหลัง รังไข่มีออวุลจำนวนมาก ฝักแบน มี 2 ซีก ปลายมีจะงอย มีผนังกั้น เมล็ดเป็นมันวาว

สกุล Abrus อยู่ใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Abreae ซึ่งเป็นสกุลเดียวของเผ่า มีประมาณ 17 ชนิด ในไทยมี 3 ชนิด ชนิด A. fruticulosus Wight & Arn. พบที่ชัยภูมิ และมุกดาหาร ใบเรียวแคบ ช่อดอกไม่หนาแน่น ชื่อสกุลน่าจะมาจากภาษากรีก “habros” นุ่มนวล ตามลักษณะของใบ


มะกล่ำตาหนู
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus precatorius L.

Fabaceae

ไม้เถา มีขนประปรายกระจายทั่วไป ขนหนาแน่นตามช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก และผล หูใบยาว 3–5 มม. ใบประกอบมีใบย่อย 8–16 คู่ ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 0.5–2 ซม. ปลายตัด มีติ่งหรือมน โคนกลม ก้านใบยาวประมาณ 1 มม. ช่อดอกยาว 2–8 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยยาว 0.5–1 มม. ดอกสีม่วง กลีบกลางรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. มีก้าน ปลายเว้า กลีบปีกและคู่ล่างเรียวแคบกว่า รังไข่และก้านเพศเมียมีขนหนาแน่น ฝักรูปขอบขนาน ยาว 2–4 ซม. มี 2–6 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. โคนสีดำ ช่วงปลายสีแดง

พบทั่วไปในเขตร้อน ขึ้นตามชายป่าและเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร เมล็ดแข็งเป็นมันวาว มีพิษร้ายแรงถึงชีวิต ใช้ทำเครื่องประดับ ส่วนอื่น ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Crab’s eye vine, Rosary pea

ชื่ออื่น   กล่ำเครือ, กล่ำตาไก่ (เชียงใหม่); เกมกรอม (สุรินทร์); ชะเอมเทศ, ตากล่ำ (ทั่วไป); มะกล่ำเครือ, มะกล่ำแดง (เชียงใหม่); มะกล่ำตาหนู (ทั่วไป); มะขามเถา (ตรัง); มะแค๊ก (เชียงใหม่); ไม้ไฟ (ตรัง); หมากกล่ำตาแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

มะกล่ำตาหนู: ใบประกอบมีใบย่อย 8–16 คู่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกหนาแน่น ดอกสีม่วง เมล็ดโคนสีดำ ช่วงปลายสีแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

มะกล่ำตาหนู
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus pulchellus Wall. ex Thwaites

Fabaceae

ดูที่ มะกล่ำเผือก



เอกสารอ้างอิง

Bao, B. and M. Gilbert. (2010). Fabaceae (Abrus). In Flora of China Vol. 10: 194.

Verdcourt, B. (1979). A manual of New Guinea legumes. Botany Bulletin 11: 515–529.