ไม้เถา ยาวได้ถึง 30 ม. แยกเพศต่างต้น มือจับแยก 2–3 แฉก ใบรูปฝ่ามือ 3–5 แฉก ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ แผ่นใบมีต่อมประปราย ก้านใบยาว 4–8 ซม. โคนมีเกล็ดประดับสีดำ ยาวประมาณ 5 มม. มีต่อมน้ำต้อยสีเขียว ดอกบานตอนกลางคืน ช่อดอกเพศผู้ยาว 15–35 ซม. มี 10–20 ดอก ก้านดอกยาว 2–6 มม. ใบประดับรูปรี ยาว 0.5–1 ซม. ฐานดอกยาว 7–12 ซม. ปลายรูปถ้วย ยาว 1–2 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 2–4 มม. ดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ ยาว 3–5 ซม. ขอบจักชายครุย บิดวนห้อยลง ยาวได้ถึง 15 ซม. มีขน เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดใกล้คอหลอด อับเรณูชิดกัน จานฐานดอกแยกเป็น 3 ส่วน รูปแถบยาว 3–5 ซม. ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกสั้นกว่าในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ถึง 5 ซม ยอดเกสรแยก 2 แฉก มี 3 คาร์เพล 6 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1–3 เม็ด รังไข่มีตุ่มสีดำ ผลเปลือกแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 15–20 ซม. มี 6 ไพรีน ยาว 3–7 ซม.
พบที่อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคเหนือที่น่าน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี และภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 800–1200 เมตร เมล็ดให้น้ำมัน และนำไปเผากินได้ ส่วน subsp. heteroclita พบเฉพาะในอินเดีย ผลมีร่อง 6–12 ร่องชัดเจน
สกุล Hodgsonia Hook.f. & Thomson มี 2 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน อีกชนิดคือ น้ำเต้าผี H. macrocarpa (Blume) Cogn. ใบมี 3 แฉก ฐานดอกเพศผู้สั้น แต่ก้านดอกเพศเมียยาวกว่ามะกลิ้ง พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา และภาคใต้ของไทย ชื่อสกุลตั้งตาม Brian Houghton Hodgson (1800–1894) ชาวอังกฤษผู้ศึกษาศิลปะตะวันออก และเก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่อินเดีย
|