สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

มหาพรหม

มหาพรหม  สกุล
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Mitrephora Hook.f. & Thomson

Annonaceae

ไม้ต้น ใบเรียงเวียน ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ส่วนมากออกตามซอกใบหรือตรงข้ามใบ ดอกห้อยลง ใบประดับติดที่โคน กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เรียงจรดกัน กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง แต่ละวงเรียงจรดกัน วงนอกยาวกว่าวงใน ไม่มีก้านกลีบ วงในมีก้านกลีบ ปลายจรดกันรูปโดม เกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูรูปลิ่มหันออก ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์ ปลายตัด คาร์เพลแยกกัน มักเปลี่ยนสีและแก่ก่อนเกสรเพศผู้ (protogynous) ออวุลเรียงสองแถว ผลกลุ่ม ผลย่อยแยกกัน ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ ส่วนมากผิวเรียบ เมล็ดแบน

สกุล Mitrephora มีประมาณ 50 ชนิด พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย และออสเตรเลีย พบมากในบอร์เนียวและฟิลิปปินส์ ในไทยมี 8 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “mitra” หมวก และ “phoreo” ถือหรือพยุง หมายถึงลักษณะของคาร์เพลที่คล้ายหมวก


มหาพรหม
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Mitrephora winitii Craib

Annonaceae

ไม้ต้น สูง 8–10 ม. เปลือกเรียบ กิ่งแตกเป็นร่องร่างแห มีช่องอากาศ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามปลายกิ่ง ก้านใบ เส้นกลางใบ ช่อดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก และผล ใบรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–20 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้าตื้น เบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 12–20 เส้น ก้านใบยาว 3–5 มม. ช่อดอกส่วนมากมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 1–1.5 ซม. ดอกเกือบไร้ก้าน ใบประดับรูปไข่ ยาว 5–8 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวได้ถึง 1 ซม. กลีบดอกวงนอกสีขาว รูปรีกว้าง ยาวได้ถึง 4 ซม. วงในสีชมพูอมม่วง รูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. โคนรูปเงี่ยงลูกศร ผลย่อยมี 10–16 ผล รูปรีกว้าง ยาว 2–2.5 ซม. ผิวย่น

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นตามป่าดิบแล้งหรือบนเขาหินปูน ความสูง 100–150 เมตร

มหาพรหม: กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง วงในมีก้านกลีบ ปลายจรดกันรูปโดม ผลย่อยไร้ก้าน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

มหาพรหมราชินี
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Mitrephora sirikitiae Weeras., Chalermglin & R.M.K.Saunders

Annonaceae

ไม้ต้น สูง 6 ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบรูปใบหอก ยาว 6–22 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนแหลมหรือมน แผ่นใบด้านล่างเป็นมันวาว มีขนกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ 8–11 เส้น ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกมีขนกำมะหยี่ มี 1–3 ดอก ก้านดอกยาว 1.8–2.7 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 5–7 มม. กลีบรูปไข่กว้าง ยาว 1.3–1.5 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบดอกวงนอกสีขาว รูปไข่กว้าง ยาว 4–5.5 ซม. วงในสีชมพูอมม่วง รูปไข่ สั้นกว่าวงนอกเล็กน้อย โคนรูปเงี่ยงลูกศร ผลย่อยมี 10–15 ผล รูปขอบขนาน ยาว 5–6 ซม. มีขนละเอียด ก้านยาว 1.5–2.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่แม่ฮ่องสอน ขึ้นตามป่าดิบเขาที่เป็นหินปูน ความสูง 1000–1100 เมตร คล้ายกับมหาพรหม แต่ดอกมีขนาดใหญ่กว่า

มหาพรหมราชินี: ใบรูปใบหอก ปลายแหลมยาว ดอกคล้ายมหาพรหมแต่ขนาดใหญ่กว่า (ภาพ: กันย์ จำนงค์ภักดี)

มหาพรหม
วันที่ 29 เมษายน 2559

Mitrephora keithii Ridl.

Annonaceae

ดูที่ กลาย



เอกสารอ้างอิง

Craib, W.G. (1922). Contributions to the Flora of Siam. Bulletin of Miscellaneous Information Kew 1922: 227.

Weerasooriya, A.D., P. Chalermglin & R.M.K. Saunders. (2004). Mitrephora sirikitiae (Annonaceae): a remarkable new species endemic to northern Thailand. Nordic Journal of Botany 24(2): 201–206.