ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 10–15 ม. แยกเพศต่างต้น กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวหนาแน่น หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรี ยาว 6–15 ซม. ช่วงปลายบางครั้งจักตื้น ๆ 3 แฉก ปลายแหลมยาว โคนกลมหรือเว้าตื้น เส้นโคนใบข้างละ 2–3 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 2–4 เส้น ก้านใบยาว 2–5 ซม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก 1–3 ดอก ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกหนา ใบประดับรูปไข่ 2 ใบ ติดใต้กลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก พับงอกลับ ยาวประมาณ 1 ซม. ดอกสีครีม มี 5 กลีบ รูปรี ยาว 1–1.2 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกเป็น 5 กลุ่ม อับเรณูติดที่ฐาน ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่ 5 ช่อง เป็นสันนูน มีขนสั้นนุ่ม เป็นหมันในดอกเพศผู้ เกสรเพศเมีย 5 อัน แยกกัน ผลแห้งแล้วแยกเป็น 5 ซีก มีปีก รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4–6 ซม. แต่ละซีกมีเมล็ดเดียว รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม.
พบที่จีนตอนใต้ พม่าตอนล่าง และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทยที่กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูงระดับต่ำ ๆ
สกุล Burretiodendron Rehder เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae มีประมาณ 7 ชนิด พบที่จีนตอนใต้ พม่า เวียดนามตอนบน ในไทยอาจมีชนิดเดียว B. siamense Kosterm. อาจเป็นชื่อพ้องของมลายเขา ส่วน B. umbellatum Kosterm. เป็นชื่อพ้องของ Mansonia gagei J.R.Drumm. ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Karl Ewald Maximilian Burret (1883–1964)
|