สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ฟองหินเหลือง

ฟองหินเหลือง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Sedum susannae Raym.-Hamet

Crassulaceae

ไม้ล้มลุก สูง 4–12 ซม. มีเหง้า แตกกิ่งหนาแน่น เกลี้ยง ใบอวบน้ำ เรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 0.4–1 ซม. โคนมีเดือยจักเป็นพู ปลายมีติ่งแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกหนาแน่นสีเหลือง ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปแถบ ยาวประมาณ 5 มม. ปลายมีติ่งแหลม กลีบดอกรูปใบหอก ยาว 5–7 มม. โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 10 อัน สีเหลือง 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบเลี้ยง ยาวประมาณ 5 มม. อีก 5 อันติดตรงข้ามเหนือโคนกลีบดอก สั้นกว่าเล็กน้อย มีต่อมน้ำต้อยเป็นเกล็ด มี 5 คาร์เพล รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 6 มม. โคนเชื่อมติดกัน ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มม. ผลแห้งแตก เมล็ดรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มม.

พบที่พม่าและจีนตอนใต้ ในไทยพบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามหินปูนที่โล่ง ความสูง 1500–2200 เมตร แยกเป็น var. macrosepalum K. T. Fu กลีบเลี้ยงยาวไม่เท่ากัน พบเฉพาะที่จีน

สกุล Sedum L. มีประมาณ 470 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเขตอบอุ่น ในไทยพบชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นภาษาละติน หมายถึงพืชพวกอวบน้ำ

ฟองหินเหลือง: ไม้ล้มลุกแตกกิ่งหนาแน่น เกลี้ยง ใบอวบน้ำ เกสรเพศผู้ 10 อัน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Fu, K., H. Ohba and M.G. Gilbert. (2001). Crassulaceae. In Flora of China Vol. 8: 288.