สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พิศวง2

พิศวง2
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Paradombeya burmanica Stapf

Malvaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 5 ม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาวได้ถึง 7 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอก ยาว 6–14 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมน กลม เบี้ยว ขอบจักซี่ฟัน เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบพอง ยาว 4–5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ มี 3–7 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. ริ้วประดับมี 2–3 อัน ติดที่ข้อเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอก ยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปรี ยาวประมาณ 5 มม. ดอกสีขาว มี 5 กลีบ ติดระหว่างกลีบเลี้ยง รูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5–1 ซม. โคนเรียวแคบ ปลายตัดไม่เป็นระเบียบ เกสรเพศผู้ 15 อัน กลุ่มละ 3 อัน สั้นกว่าเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปลิ้น ติดระหว่างกลุ่มเกสรเพศผู้ สั้นกว่าหรือยาวเท่าๆ กลีบดอก รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ยอดเกสรจัก 5 พู ผลแห้งแตกรูปไข่ มี 5 ซีก แต่ละซีกมีเมล็ดเดียว

พบที่พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยเชียงดาว ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามชายป่าดิบเขา ที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 1000–2300 เมตร

สกุล Paradombeya Stapf เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Bombacaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae มี 2 ชนิด อีกชนิด คือ P. sinensis Dunn พืชถิ่นเดียวของจีน ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “para” คล้าย และชื่อสกุล Dombeya

พิศวง: ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ กลีบดอกโคนเรียวแคบ ปลายตัดไม่เป็นระเบียบ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปลิ้น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2005). Bombacaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(1): 31–32.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China. Vol. 12: 330.