สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พิศวง

พิศวง  สกุล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Thismia Griff.

Thismiaceae

พืชล้มลุกกินซากอาศัยเชื้อรา (myco-heterotrophic plants) ใบคล้ายเกล็ด ใบประดับคล้ายใบ ติดใต้ดอก ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อกระจะ กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง ขนาดเท่า ๆ กัน หรือ 3 กลีบวงในใหญ่กว่าเล็กน้อย เชื่อมติดกันคล้ายหมวก มีรูเปิด 3 ด้าน ปลายกลีบมักมีรยางค์ เกสรเพศผู้ 6 อัน เรียงติดกันเป็นหลอด ติดห้อยลงจากวงสันนูน (annulus) ก้านชูอับเรณูสั้นคล้ายริบบิ้น อับเรณูมี 2 ช่อง แยกกันด้วยแกนอับเรณู ปลายและโคนมักมีรยางค์ รังไข่ใต้วงกลีบ มีช่องเดียว ออวุลจำนวนมาก เกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ หลอดกลีบรวม ก้านสั้น ยอดเกสรแยก 3 แฉก ติดทน ผลสดรูปถ้วย แตกตามขวางที่ปลาย เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สกุล Thismia เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Burmanniaceae ภายใต้วงศ์ย่อย Thismioideae มีมากกว่า 50 ชนิด พบในอเมริกาและแอฟริกาเขตร้อน เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีประมาณ 7 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักจุลชีววิทยาชาวอังกฤษ Thomas Smith ในช่วงต้น ๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยการเรียงพยัญชนะใหม่


พิศวง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Thismia gardneriana Hook.f. ex Thwaites

Thismiaceae

พืชล้มลุกกินซาก สูงได้ถึง 8 ซม. ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 1.5–3 มม. มี 1–5 ดอก ใบประดับคล้ายใบรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 5 มม. หลอดกลีบสีเหลืองอมส้ม รูปถ้วย ยาว 0.7–1.2 ซม. กลีบรวมสีเหลือง กลีบวงนอกรูปรีเกือบกลม ยาว 1.5–2 มม. กลีบวงในเรียวแคบเป็นรยางค์รูปเส้นด้าย ยาว 1.4–2.2 ซม. วงสันนูนหนา ก้านเกสรเพศผู้แผ่กว้าง แกนอับเรณูแบนกว้างรูปสี่เหลี่ยม มีรยางค์คล้ายปีก ขอบที่โคนจัก 2 พู

พบที่ศรีลังกา และภาคใต้ของไทยที่ระนอง และพังงา ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบชื้นความสูงระดับต่ำ ๆ

พิศวง: หลอดกลีบรูปถ้วย สีเข้ม กลีบสีเหลืองอมส้ม กลีบวงนอกรูปรีเกือบกลม กลีบวงในเรียวแคบเป็นรยางค์รูปเส้นด้าย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, นัยนา เทศนา)

พิศวงขาว
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Thismia alba Holttum ex Jonker

Thismiaceae

พืชล้มลุกกินซาก ลำต้นสั้น บางครั้งแตกแขนง ใบรูปใบหอก ยาว 3–4 มม บางใส มี 1–3 ดอก ใบประดับ 3 อัน หลอดกลีบรูประฆังสีขาว ยาวประมาณ 1 ซม. มีริ้ว 6 ริ้ว ระหว่างริ้วเป็นเส้นแถบเหลือง กลีบรวมสีเหลือง รูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. ทั้ง 6 กลีบมีรยางค์สีขาวรูปเส้นด้าย ยาวได้ถึง 1.5 ซม. วงสันนูนหนาสีเหลือง ก้านชูอับเรณูหนา ปลายมีรยางค์ แกนอับเรณูแผ่กว้างคล้ายปีกรูปสี่เหลี่ยม ที่โคนมีต่อมน้ำต้อย 2 ต่อม ผลสดรูปถ้วยสีน้ำตาล ยาวประมาณ 6 มม.

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่สงขลา พังงา ขึ้นกระจายห่าง ๆ ในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร

พิศวงขาว: ใบคล้ายเกล็ด หลอดกลีบดอกรูประฆัง สีขาว มีริ้ว กลีบสีเหลือง ทั้ง 6 กลีบมีรยางค์สีขาวรูปเส้นด้าย ผลสดรูปถ้วย (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

พิศวงรยางค์
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Thismia javanica J.J.Sm.

Thismiaceae

พืชล้มลุกกินซาก สูงได้ถึง 12 ซม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก มี 1–3 ดอก ใบประดับคล้ายใบมี 3 อัน หลอดกลีบรูปคนโท สีขาว มีริ้วสีส้ม ด้านในเป็นแถบยาวเชื่อมกับแนวขวางหลายแนว กลีบวงนอกขนาดเล็ก ปลายมน กลีบวงในมีรยางค์รูปเส้นด้ายสีขาวอมน้ำตาล ยาว 2–3 ซม. ปลายเกสรเพศผู้จัก 3 พู ปลายมีขน แกนอับเรณูแบนกว้างรูปสี่เหลี่ยม ผลสดรูปถ้วยสีส้มอมน้ำตาล ยาวประมาณ 6 มม.

พบในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคใต้ ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร อนึ่ง ข้อมูลและภาพประกอบในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยน่าจะเป็น พิศวง T. gardneriana Hook.f. ex Thwaites

พิศวงรยางค์: หลอดกลีบรูปคนโท สีขาว กลีบวงนอกขนาดเล็ก กลีบวงในมีรยางค์รูปเส้นด้าย (ภาพ: นัยนา เทศนา)

พิศวง
วันที่ 28 กันยายน 2559

Aeginetia pedunculata Wall.

Orobanchaceae

ดูที่ ดอกดิน



เอกสารอ้างอิง

Chantanaorrapint, S. and K. Sridith. (2007) Thismia alba (Thismiaceae), a new record for Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 35: 34–37.

Cramer, L.H. (1983). Burmanniaceae. In A revised handbook to the Flora of Ceylon Vol. 4: 158–159.

Jonker, F.P. (1984). Burmanniaceae. In Flora Malesiana Vol. 4: 21–25.

Larsen, K. (1987). Thismiaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 124–126.