ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. กิ่งมีช่องอากาศ หูใบร่วมปลายเป็นติ่งแหลม ร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 4–12.5 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนตามเส้นใบ ก้านใบยาวได้ถึง 1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกเรียงแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.8–1.5 ซม. ดอกรูปดอกเข็ม สีชมพูหรือขาว หลอดกลีบสีแดงอมม่วง ยาว 2.5–4 ซม. ปลายแยก 5 กลีบ รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 0.8–1.3 ซม. เรียงซ้อนเหลื่อม เกสรเพศผู้ติดเหนือกึ่งกลางหลอดกลีบ อับเรณูยาวประมาณ 3 มม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกในต้นที่มีก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก รูปคล้ายกระบองยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ผลแห้งแตกตามรอยประสานจากด้านบน รูปไข่กลับ ยาว 1–1.5 ซม. เมล็ดจำนวนมาก ยาวประมาณ 2 มม. รวมปีกแบนที่ปลายทั้งสองข้าง
พบที่เนปาล อินเดีย จีนตอนใต้ เวียดนามตอนบน และภาคเหนือของไทยที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 1700–2200 เมตร
สกุล Luculia Sweet อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Cinchonoideae มี 5 ชนิด พบที่ภูฏาน อินเดีย เนปาล จีน พม่า เวียดนาม และภาคเหนือของไทย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาเนปาล “Luculi swa” ที่ใช้เรียกพืชชนิดนี้
|
ชื่อพ้อง Cinchona gratissima Wall.
|
|
|
ชื่ออื่น ชมพูเชียงดาว, ชมพูพิมพ์ใจ, พิมพ์ใจ (ทั่วไป)
|
|
พิมพ์ใจ: ช่อดอกแบบช่อกระจุกเรียงแบบช่อเชิงหลั่น ดอกสีชมพูหรือขาว ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก รูปคล้ายกระบอง ผลแห้งแตกตามรอยประสาน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
|
|