Index to botanical names
พิกุลป่า
Pentaphylacaceae
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง 5–15 ม. มีขนยาวคล้ายไหมตามกิ่งอ่อน ตา แผ่นใบด้านล่าง ก้านดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก อับเรณู ผล รังไข่ และก้านเกสรเพศเมีย ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–15 ซม. บางครั้งเกลี้ยง ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย ก้านใบยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 2–5 ซม. ใบประดับคล้ายใบ 2 อันติดใต้กลีบเลี้ยง รูปไข่ ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 0.7–1 ซม. ติดทน ดอกสีขาวอมชมพู เชื่อมติดกันที่โคน กลีบรูปใบหอก ยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดที่โคนกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มม. อับเรณูติดที่ฐาน ยาว 3–4 มม. มีรยางค์เป็นติ่งแหลม ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. ติดทน ผลสดมีหลายเมล็ด รูปรีกว้าง ยาวได้ถึง 2 ซม. สุกสีดำ เมล็ดแบน รูปคล้ายไตพบที่ พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตรสกุล Adinandra Jack เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Theaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Freziereae มีประมาณ 80 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 4 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “adinos” หนาแน่น และ “andros” เกสรเพศผู้ หมายถึงพืชที่มีเกสรเพศผู้หนาแน่น
ชื่ออื่น จ้ำ (ภาคเหนือ); ตีนจำดง (เพชรบูรณ์); ตีนต่างฟ้า, เทียนแดง (เลย); บ้งนาง (เพชรบูรณ์); บำรำ (สุราษฎร์ธานี); ประดงขอ (เลย); โป้งนาง (เพชรบูรณ์); โปรงบก (ตราด); พิกุลป่า, เมี่ยงมัน (เลย); หลุกตอง (ตรัง); เหมือด (เลย)
พิกุลป่า: ส่วนต่าง ๆ มีขนยาวคล้ายไหม ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว ใบประดับติดใต้กลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดทน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ)
Keng, H. (1972). Theaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 151.
Min, T. and B. Bartholomew. (2007). Theaceae. In Flora of China Vol. 12: 438.