สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พันงู

พันงู
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Achyranthes aspera L.

Amaranthaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. กิ่งเป็นเหลี่ยมมน มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบ และช่อดอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ยาว 2–10 ซม. ปลายกลม แหลม หรือแหลมยาว โคนเรียวสอบ แผ่นใบบางครั้งเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 50 ซม. แกนช่อเป็นเหลี่ยม ดอกออกเดี่ยว ๆ บนแกนช่อ ใบประดับแห้งบาง ติดทน รูปไข่ ปลายเรียวแหลม ยาว 2–3 มม. ใบประดับย่อย 2 อัน แนบติดกลีบรวมคล้ายหนาม ยาว 3–4 มม. โคนมีเยื่อบาง ๆ กลีบรวม 4–5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้มี 2–5 อัน แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน มีเกล็ด ขอบจักชายครุย รังไข่เกลี้ยง มีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาว 2–3.5 มม. ผลแบบกระเปาะ ปลายตัด เปลือกบาง ยาว 2.5–3 มม. เมล็ดรูปทรงกระบอก

ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร มีความผันแปรสูง แยกเป็นหลาย varieties มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

สกุล Achyranthes L. มีประมาณ 10 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 3 ชนิด เป็นพืชถิ่นเดียวหน่ึงชนิด คือ A. ancistrophora C.C.Towns. ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “achyron” เกล็ดบาง และ “anthos” ดอก หมายถึงลักษณะดอกที่โคนใบประดับมีเยื่อบางคล้ายเกล็ด

ชื่อสามัญ  Prickly chaff-flower

ชื่ออื่น   ควยงู, พันงู (ภาคกลาง); หญ้าตีนงูขาว (กรุงเทพฯ)

พันงู: ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ใบประดับแห้งบาง ติดทน ใบประดับย่อย 2 อัน แนบติดกลีบรวมคล้ายหนาม ผลรูปกระเปาะ ใบประดับติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (1992). Amaranthaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(4): 395.