สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พะยอม

พะยอม  สกุล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Shorea Roxb. ex C.F.Gaertn.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น มีหูใบ ใบเรียงเวียน บางครั้งมีตุ่มใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกเรียงเวียนข้างเดียวกัน ใบประดับร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม 3 กลีบในเรียวแคบและยาวกว่าคู่นอกเล็กน้อย กลีบดอก 5 กลีบ บิดเวียน แยกกันหรือเชื่อมติดกันที่โคน เกสรเพศผู้มี 10 หรือ 15 อัน หรือจำนวนมาก เรียง 2–3 วง โคนก้านชูอับเรณูแผ่กว้าง อับเรณูส่วนมากมี 4 ช่อง รูปกลม ๆ คู่ในขนาดเล็กกว่า ปลายแกนอับเรณูเป็นรยางค์ รังไข่มักคอดเว้า ไร้ฐานยอดเกสรเพศเมีย (stylopodium) ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก เรียบหรือจัก 3 พู ผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงส่วนมากขยายเป็นปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก โคนหนา เรียงซ้อนเหลื่อม

สกุล Shorea อยู่ภายใต้เผ่า Shoreae ที่โคนกลีบเลี้ยงในผลเรียงซ้อนเหลื่อม แยกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่มตามลักษณะเปลือก เนื้อไม้ สิ่งปกคลุม ปลายแกนอับเรณู จำนวนเกสรเพศผู้ รูปร่างและจำนวนอับเรณู และฐานก้านเกสรเพศเมีย มีประมาณ 195 ชนิด พบที่ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยมี 24 ชนิด ชื่อสกุลตั้งเป็นเกียรติแก่ขุนนางชาวอังกฤษ Sir John Shore Teignmouth (1751–1834) อดีตนายทหารที่ทำงานให้กับบริษัทอีสต์อินเดียที่เบงกอล


พะยอม
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Shorea roxburghii G.Don

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูง 15–25 ม. โคนมีพูพอนตื้น ๆ เปลือกแตกเป็นร่อง มีขนสั้นนุ่มและเกล็ดสีน้ำตาลตามกิ่งอ่อน หูใบ ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง และกลีบเลี้ยงด้านนอก หูใบรูปแถบขนาดเล็ก ใบรูปขอบขนาน ยาว 5–15 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 14–20 เส้น ก้านใบยาว 2–4 ซม. ช่อดอกยาว 3–8 ซม. ช่อแยกแขนงมี 2–4 ดอก ตาดอกเรียวยาว ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มม. ดอกสีครีม โคนมีปื้นสีชมพู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวได้ถึง 1.2 ซม. เกสรเพศผู้ 15 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูเรียวยาวประมาณ 1 มม. รยางค์ยาวประมาณ 1.5 เท่าของอับเรณู รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–4 มม. ยอดเกสรจัก 3 พู หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มผล เกลี้ยง ปีกยาว 3 ปีก ยาว 5–10 ซม. ปีกสั้น 2 ปีก ยาว 3–6 ซม. ผลรูปไข่ ยาว 1.5–2 ซม. ติ่งแหลมยาว 3–5 มม.

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายูตอนบน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

ชื่อสามัญ  White meranti

ชื่ออื่น   กะยอม (เชียงใหม่); กูวิง (มาเลย์-นราธิวาส); ขะยอม (ลาว); ขะยอมดง (ภาคเหนือ); แคน (เลย); เชียง, เซี่ยว (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); พะยอม (ภาคกลาง); พะยอมดง (ภาคเหนือ); พะยอมทอง (ปราจีนบุรี, สุราษฎร์ธานี); ยอม (ภาคใต้); ยางหยวก (น่าน); สุกรม (ภาคกลาง)

พะยอม: ใบรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบดอกบิดเวียน ผลมีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี, ราชันย์ ภู่มา)

พะยอมดง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Shorea roxburghii G.Don

Dipterocarpaceae

ดูที่ พะยอม

พะยอมทอง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Shorea roxburghii G.Don

Dipterocarpaceae

ดูที่ พะยอม



เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 493.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 156–177.

Smitinand, T., J.E. Vidal and P.H. Hô. (1990). Dipterocarpaceae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam. 25: 84–104.