สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พวงไข่มุก2

พวงไข่มุก2
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Sambucus simpsonii Rehder

Adoxaceae

ไม้พุ่ม สูง 2–6 ม. ใบประกอบ 2 ชั้น ปลายคี่ เรียงตรงข้าม ยาวได้ถึง 25 ซม. ใบประกอบย่อยมีได้ถึง 8 คู่ ใบช่วงโคนส่วนมากมี 3 ใบย่อย ช่วงปลายมักมีใบเดียว ใบย่อยรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ ยาว 4–9 ซม. ใบกลางขนาดใหญ่กว่าใบข้างในใบประกอบย่อยที่มี 3 ใบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง แผ่กว้างได้กว่า 30 ซม. ก้านช่อยาวได้กว่า 10 ซม. ก้านดอกยาวได้ถึง 5 มม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ ยาวประมาณ 1 มม. เชื่อมติดกันที่โคน ดอกสีขาว มี 4–5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน กลีบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 5 มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 5 อัน อับเรณูหันออก รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ส่วนมากมี 5 ช่อง ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรจัก 5 พู ผลคล้ายผลสดมี 4–6 เมล็ด

มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน มักเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าชื่อวิทยาศาสตร์คือ S. canadensis L.

สกุล Sambucus L. มีประมาณ 30 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีพืชพื้นเมืองชนิดเดียว คือ สะพ้านก๊น S. javanica Reinw. ex Blume เป็นไม้พุ่มเตี้ย รังไข่มี 3 ช่อง คล้ายมี 3 เมล็ด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “sambuce” เครื่องดนตรีโบราณที่ทำจากไม้ชนิดนี้ โดยเอาไส้ออกทำเป็นเครื่องดนตรีคล้ายขลุ่ย

ชื่อสามัญ  American elder

ชื่ออื่น   พวงไข่มุก (กรุงเทพฯ); ระป่า (ปราจีนบุรี); อุน, อุนฝรั่ง (แพร่)

พวงไข่มุก: ใบประกอบสองชั้นปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบช่วงโคนส่วนมากมี 3 ใบย่อย ขอบจักฟันเลื่อย ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Fukuoka, N. (2015). Adoxaceae. In Flora of Thailand Vol. 13(1): 61–64.